“กรุงเทพโพลล์” สำรวจนักเศรษฐศาสตร์ ระบุเศรษฐกิจไทยกำลังเคลื่อนออกจากภาวะถดถอย เข้าสู่ภาวะฟื้นตัวแล้ว ระบุการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ-เอกชน การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ต่างเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนการฟื้นตัวของไทย ขณะที่การส่งออกจากน่าห่วง
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 33 แห่ง จำนวน 69 คน เรื่อง “ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้า” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 16-23 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา พบว่า
ผลสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน อยู่ที่ระดับ 23.13 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนที่อยู่ในระดับ 12.75 (เป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจ) แต่การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ค่อนข้างมาก สะท้อนให้เห็นถึงสถานะทางเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ยังอ่อนแออยู่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะปัจจัยด้านการส่งออกสินค้าและการบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มของดัชนีในการสำรวจครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในเศรษฐกิจขาลงรอบนี้ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2556
ด้านความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีอยู่ที่ 80.75 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่า 50 ค่อนข้างมาก และเป็นระดับที่สูงที่สุดนับจากมีการจัดทำดัชนีเมื่อเดือนกรกฎาคม 53 สะท้อนให้เห็นว่านักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าว่าจะปรับดีขึ้นกว่าปัจจุบันอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในระยะ 6 เดือนข้างหน้าที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 90.17 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่า 50 และเป็นระดับที่สูงที่สุดนับจากมีการจัดทำดัชนี ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าเศรษฐกิจในระยะ 6 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปัจจุบัน
เมื่อพิจารณาปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า พบว่า ทุกปัจจัยมีการปรับตัวที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบันโดยเฉพาะการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ส่วนการบริโภคภาคเอกชน และภาคการส่งออก จะขยายตัวค่อนข้างช้ากว่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ
สำหรับความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ในประเด็นวัฏจักรเศรษฐกิจนั้น ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงใดของวัฏจักร พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 44.9 เห็นว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว (Recovery) รองลงมาร้อยละ 33.3 เห็นว่าอยู่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย (Recession) และร้อยละ 11.6 เห็นว่าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงตกต่ำ (Trough) มีเพียงร้อยละ 1.4 ที่เห็นว่าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงรุ่งเรือง (Peak) เมื่อแบ่งวัฏจักรออกเป็น 2 ฟาก คือ ฟากเศรษฐกิจขยายตัวจนถึงจุดสูงสุด (ร้อยละ 46.3) และ ฟากเศรษฐกิจถดถอยจนถึงจุดต่ำสุด (ร้อยละ 44.9) แล้วเปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนหน้าในเดือนเมษายนที่ผ่านมาจะพบว่า เศรษฐกิจได้เคลื่อนออกจากภาวะถดถอยและเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว ข้อมูลดังกล่าวย้ำให้เห็นว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยได้ผ่านต่ำสุดไปแล้ว
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า 1. เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังอยู่ในสถานะที่อ่อนแอเป็นอย่างมาก 2. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า โดยปัจจัยขับเคลื่อนการฟื้นตัวที่สำคัญคือ การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน และการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ส่วนการบริโภคภาคเอกชน และภาคการส่งออก จะขยายตัวค่อนข้างช้ากว่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ 3. เศรษฐกิจไทยได้เคลื่อนออกจากภาวะถดถอยและเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว