สินค้าหัตถกรรม หรือแฮนด์เมด โดยกลุ่มผู้ผลิตชาวไทย เป็นที่ยอมรับในเรื่องฝีมือประณีตบรรจง และภูมิปัญญาท้องถิ่นสืบสานมาต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบเสมอ คือ มักขาดการทำตลาด ไม่มีช่องทางขายของตัวเอง และกลุ่มลูกค้าค่อนข้างแคบ ดังนั้น เมื่อผลิตมาแล้วขายไม่ออก การเติบโตและอยู่รอดจึงเป็นเรื่องยาก
เหตุนี้ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. ได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมร้านค้าหัตถศิลป์ไทย (Craft Shop Promotion and Networking) ด้วยการจับมือกับร้านค้าภาคเอกชนชั้นนำของไทย จัดพื้นที่ “Craft Villa” สำหรับเป็นเวทีให้สินค้าแฮนด์เมดไทยที่มีคุณภาพยอดเยี่ยมที่สุดของประเทศ มาวางขายและแสดงสินค้า เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาด
นายพงศ์วัฒนา เจริญมายุ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านบริหาร ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. กล่าวว่า ศ.ศ.ป. ดำเนินการช่วยพัฒนาสินค้าของผู้ประกอบการงานแฮนด์เมดทั้งประเทศ ในด้านดีไซน์ เพื่อตอบรับตลาดสากลได้เหมาะสม ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการแฮนด์เมดเข้ามาเป็นสมาชิกรับการพัฒนาจาก ศ.ศ.ป. ประมาณ 1,000 ราย ขณะนี้ยังดำเนินกิจการต่อเนื่องประมาณ 500 ราย
นอกจากเรื่องพัฒนาสินค้าแล้ว ศ.ศ.ป. ให้ความสำคัญด้านหาช่องทางตลาดให้แก่สมาชิกด้วย โดยที่ผ่านมา นำสินค้าของสมาชิกหมุนเวียนไปขายผ่านจุดต่างๆ 3 แห่ง ได้แก่ ห้างอัมรินทร์ พลาซ่า สนามบินสุวรรณภูมิ และที่ศูนย์ ศ.ศ.ป. อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา สร้างยอดขายเฉลี่ยประมาณ 10 ล้านบาทต่อปี ทาง ศ.ศ.ป. จะส่งเงินที่ขายสินค้าได้ให้แก่สมาชิกทุกเดือน ส่วนในรายที่สินค้าไม่ได้รับความนิยม หรือยอดขายต่ำ สมาชิกจะได้รู้กระแสตลาด เพื่อนำกลับไปปรับปรุงสินค้าแล้วมาขายใหม่ นอกจากนั้น ในรายที่มีศักยภาพสูง พาไปออกงานแฟร์ต่างประเทศ เพื่อต่อยอดสู่การส่งออกต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อจะขยายช่องทางตลาดให้แก่สมาชิกมากยิ่งขึ้น ศ.ศ.ป. ได้ทำโครงการส่งเสริมร้านค้าหัตถศิลป์ไทย ด้วยการทำหน้าที่เป็นตัวกลางหาพันธมิตรร้านค้าเอกชนที่มีความโดดเด่น และมีความพร้อม แล้วนำสินค้าของสมาชิกที่ผ่านการพัฒนาและคัดเลือกแล้วว่ามีคุณภาพยอดเยี่อมที่สุดระดับประเทศไปวางขาย เบื้องต้นมีร้านค้าเอกชนที่มาร่วมเป็นพันธมิตร จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ 1.พันธ์สุข ฟู้ดส์แอนด์ฟาร์ม อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี 2.ดาษดาแกลอรี่ จ.ปราจีนบุรี 3.ลูกโดด ชอป เมืองพัทยา จ.ชลบุรี 4.T Thaniya กทม. 5. คีรีไหมไทย @เอเชียทีค กทม. 6.busaba บุษบา ตลาดน้ำอโยธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 7.ไร่กำนันจุล จ.เพชรบูรณ์ 8. ศุภพัฒ กทม. 9. ผลิตภัณฑ์ผ้าปักชาวเขา @Route12 จ.เพชรบูรณ์ และ10. ร้านผลิตภัณฑ์จากไทย@เอเชียทีค กทม.
นายพงศ์วัฒนา เผยต่อว่า ร้านค้าที่มาเป็นพันธมิตรทั้ง 10 แห่งดังกล่าว เป็นร้านที่ ศ.ศ.ป.คัดเลือกแล้วว่ามีลักษณะโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเหมาะจะวางขายงานแฮนด์เมดคุณภาพสูง โดยทาง ศ.ศ.ป.จะเข้าไปปรับพื้นที่ส่วนหนึ่งของแต่ละร้าน โดยให้ชื่อพื้นที่ดังกล่าวว่า “Craft Villa” เพื่อเป็นแหล่งรวมของสุดยอดงานแฮนด์เมดมาวางขายและแสดงสินค้า รวมถึงทำกิจกรรมต่างๆ เช่น สัมมนาความรู้ เจรจาธุรกิจ เป็นต้น โดยแต่ละร้านใช้เวลาแสดงงาน ประมาณ 1 สัปดาห์ ประเดิมด้วยแห่งแรกที่ร้าน “พันธ์สุข ฟู้ดส์แอนด์ฟาร์ม” อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม ถึง 2 พฤศจิกายน 2557 นี้ โดยมีสินค้าสมาชิกมาจัดแสดงประมาณ 30 กลุ่ม เช่น รองเท้าผ้า จากหจก.ธาราศิลป์ คอมเมอร์เชียล จากกรุงเทพฯ ผ้าฝ้ายมัดย้อม กลุ่มMann Craft จากสกลนคร โมบายฮวงจุ้ย จากปทุมธานี เป็นต้น
“สาเหตุที่เราเลือก “พันธ์สุข ฟู้ดส์แอนด์ฟาร์ม” เป็นร้านแห่งแรกในการเปิดตัว “Craft Villa” ในโครงการนี้ พิจารณาจากความพร้อมเรื่องสถานที่ และยังเป็นทำเลเหมาะสม เพราะที่ตั้งร้านอยู่บนเส้นทางวิ่งรถทั้งขาขึ้นและลง เชื่องโยงการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ สู่ภาคใต้ อีกทั้ง ภายในร้านแห่งนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ เข้ามาชอปปิ้งสินค้าจำนวนมาก และหลังจากที่นี้แล้ว จะตระเวนไปจัดโครงการนี้ ยังร้านพันธมิตรแห่งอื่นๆ ต่อไป ตั้งเป้ากว่าในระยะเวลาอีก 6 เดือนนับจากนี้ จะจัดอีกอย่างน้อย 6 แห่ง เบื้องต้นแห่งที่ 2 ณ ดาษดาแกลอรี่ จ.ปราจีนบุรี” ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านบริหาร ศ.ศ.ป. กล่าว
เขา เสริมด้วยว่า ในการใช้พื้นที่ร้านแต่ละแห่งนั้น ศ.ศ.ป.ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายในการเช่าใดๆ เลย เนื่องจากเป็นความร่วมมือกันของภาครัฐและเอกชน เพื่อต้องการสร้างโอกาสให้แก่ผู้ผลิตสินค้าแฮนด์เมดของไทย ขณะเดียวกัน ทางร้านพันธมิตรจะได้ประโยชน์ทางอ้อม เช่น การประชาสัมพันธ์ร้านผ่านสื่อต่างๆ รวมถึง ยังได้โอกาสในการหาสินค้าใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเพื่อเข้ามาขายในร้าน ขณะเดียวกันทางผู้ผลิตสินค้า นอกจากได้โอกาสวางขายสินค้าฟรีๆ แล้ว ที่สำคัญ ได้มีโอกาสพบเจรจากับกลุ่มลูกค้าตัวจริง ซึ่งจะช่วยแนะนำให้คำติชม เพื่อผู้ผลิตได้นำกลับไปปรับปรุงพัฒนาสินค้าให้ถูกใจตลาดมากที่สุด
"เป้าหมายของโครงการที่แท้จริง เราต้องการให้ผู้ประกอบการได้ลงสู่สนามแท้จริง ในกลุ่มลูกค้าที่เหมาะสมกับงานแฮนด์เมด หวังให้ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนจากคำแนะนำของลูกค้า การวางแผนผลิตและขนส่งเมื่อได้รับออเดอร์ เพื่อที่ในระยะยาว จะสามารถขับเคลื่อนอาชีพได้ด้วยตัวเอง" นายพงศ์วัฒนา กล่าว
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *