xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวปายอย่าลืม“แม่ปิง” งามโดดเด่นด้วยวิถีดั้งเดิม (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เด็กๆ ในบ้านแม่ปิง แสดงการละเล่นประจำท้องถิ่น
ด้วยกระแสท่องเที่ยว อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ได้รับความนิยมอย่างสูง หน่วยงานภาครัฐ ได้เข้ามาส่งเสริมพื้นที่รอบๆ ต่อยอดให้เกิดการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่รองรับแขกที่มาเยือนปาย เพื่อกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน หนึ่งในนั้นคือ “บ้านแม่ปิง” ต.แม่ฮี้ ซึ่งมีจุดเด่นเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่น และยังคงรักษาวิถีชีวิตของชุมชนแบบดั้งเดิมไว้ได้อย่างมั่นคง
บ้านตัวอย่างในอดีต
นายเนตร พิโน ผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่ปิง ต.แม่ฮี้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ให้ข้อมูลว่า ชุมชนแห่งนี้ บรรพบุรุษเป็นชาวไทยภูเขา เผ่าปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยง อพยพมาจากบ้านเมืองแพร่ ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ พ.ศ.2400 มาตั้งถิ่นฐานบริเวณแนวแม่น้ำปิง เนื่องจากเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตร
นายเนตร พิโน (กลาง) ผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่ปิง ต.แม่ฮี้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน
ลักษณะภูมิประเทศของบ้านแม่ปิง เป็นที่ราบเชิงเขา ล้อมรอบด้วยป่าไม้อุดมสมบูรณ์ และภูเขาสลับซับซ้อน อากาศเย็นแทบตลอดทั้งปี มีประชากรประมาณ 150 ครัวเรือน หรือประมาณ 1,000 คน อาชีพหลักทำการเกษตร ปลูกข้าว และมีอาชีพเสริมในการทำงานผ้าทอ และจักสาน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น
สินค้าที่ระลึก ทำไว้ขายแก่นักท่องเที่ยว

นายเนตรให้ข้อมูลต่อว่า จากที่ตัวเมือง อ.ปาย ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยือนจำนวนมาก เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยได้มาส่งเสริมให้บ้านแม่ปิงพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากเห็นศักยภาพมีวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้มแข็งและอยู่ห่างจากศูนย์กลางของ อ.ปาย เพียงแค่ประมาณ 10 กิโลเมตรเท่านั้น

จากแนวคิดดังกล่าว เกิดการพัฒนาแทบทุกด้าน เช่น ทำถนนคอนกรีตเชื่อมทางเข้าสู่หมู่บ้าน และในหมู่บ้าน เพื่อให้เดินทางสะดวกได้ทุกฤดูกาล มีระบบไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ครบถ้วน รวมถึง ส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยพัฒนาเรื่องออกแบบผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีอยู่แล้ว มาปรับให้เหมาะจะเป็นสินค้าของฝากของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น โดยเปิดตัวเป็นหมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2553

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่เกิดจากการหารือกันของชาวแม่ปิง คือ จะคงรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมของท้องถิ่นไว้ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามการเจริญเติบโตที่มากขึ้น ไม่ว่าจะด้านดูแลทรัพยากรธรรมชาติ รักษาวิถีชีวิตชุมชน และดำรงชีพแบบพอเพียง

“ช่วงแรกที่เราเปิดเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว หลายหน่วยงานพยายามมาช่วยพัฒนาในด้านต่างๆ หวัง“ปั้นดินให้เป็นดาว” แต่ตอนนั้น ชาวบ้านกลับรู้สึกว่า เราไม่ค่อยมีความสุข เพราะมันฝืดวิถีชีวิตจริงๆเกินไป เช่น เสื้อผ้าพื้นเมืองที่ทุกวันนี้ เราก็ไม่ได้ใส่ในชีวิตประจำวันแล้ว จะใส่แค่วันสำคัญ ถ้าจะให้กลับไปใส่เสื้อพื้นเมืองทุกวัน ก็เป็นการโกหกตัวเองโกหกนักท่องเที่ยว ดังนั้น ชาวบ้านเลยมาหารือกันว่า พวกเราไม่ต้องการจะถูกปั้นเป็นดาว แต่จะทำให้เห็นคุณค่าของ “ดิน” นั่นคือ คงรักษาวิถีชีวิตท้องถิ่นแท้ๆ ไม่มีการปรุงแต่ง คนที่มาเข้ามาท่องเที่ยว ก็จะเห็นวิถีชีวิตของพวกเราชาวแม่ปิงจริงๆผู้ใหญ่บ้าน กล่าว
งานทอผ้า อาชีพเสริมสำคัญของชาวบ้านแม่ปิง
อีกทั้ง เพื่อรักษาความเข้มแข็งของท้องถิ่นไว้ ชาวบ้านมีกติการ่วมกันว่า จะไม่ยอมขายที่ดินให้นักธุรกิจภายนอก ที่หวังมาทำการค้ารูปแบบต่างๆ หรือในกรณีที่มีชาวบ้านบางคน ยอมขายที่ดินให้แก่นายทุน ทางหมู่บ้านก็จะนำเงินกองกลางหมู่บ้าน ซึ่งเป็นเงินเก็บจากการส่วนแบ่งรายได้ของกลุ่มอาชีพชุมชน เช่น กลุ่มโรงสี กลุ่มทอผ้า กลุ่มอิฐประสาน และร้านค้าสินค้าที่ระลึกชุมชน ฯลฯ ประกอบกับเงินที่ได้รับส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เช่น เงินกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น นำไปซื้อที่ดินดังกล่าวกลับคืน แล้วพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะหมู่บ้าน ที่ผ่านมา เคยไปซื้อคืนมาแล้ว 2 แปลง นำมาทำเป็นโรงเรียน และสนามฟุตซอล
นายมงคล โคนาทขจร วัย 75 ปี
ด้านนายมงคล โคนาทขจร วัย 75 ปี ชาวบ้านแม่ปิง ซึ่งเกิดและเติบโตที่นี่ เล่าให้ฟังว่า หลังจากชุมชนเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้ดีขึ้น จากเดิมแค่การเกษตรอย่างเดียว ได้เพิ่มเติมสร้างรายได้จากอาชีพเสริมต่างๆ นอกจากนั้น ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการรักษาสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น เช่น รักษาความสะอาดบ้านของตัวเอง และช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนั้น เวลามีนักท่องเที่ยวเข้ามา ก็จะช่วยต้อนรับ อำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ดีที่สุด
ภายในศูนย์นิทรรศการของหมู่บ้าน
ย้อนกลับมาที่นายเนตร เล่าในตอนท้ายว่า ปัจจุบัน รายได้หลักของชาวบ้าน มาจากการทำเกษตร และมีรายได้รอง การทำอาชีพเสริมต่างๆ ตามความชอบและถนัดของตัวเอง ซึ่งในชุมชนเวลานี้ มีทำหลายอาชีพ ได้แก่ งานทอผ้าพื้นเมือง ไวน์ชุมชน และอาหารท้องถิ่นแปรรูป ตีมีด เครื่องจักรสาน เป็นต้น ช่องทางตลาดจะวางขายที่ร้านค้าของฝากประจำชุมชน เพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศได้มาเลือกซื้อหา โดยเฉลี่ยชาวบ้านจะมีรายได้ประมาณ 46,000 บาทต่อคนต่อปี แม้จะค่อนข้างน้อย แต่ด้วยวิถีชีวิตชาวบ้านที่อยู่กันอย่างสมณะ ค่าครองชีพต่ำ รายได้เท่านี้ จึงพอจะเลี้ยงดูตัวเองได้
ร้านค้าสินค้าที่ระลึกประจำหมู่บ้าน
“ผมอยากให้คนที่มาเที่ยวปาย แล้วเดินทางต่อมาที่บ้านแม่ปิง ได้เข้าใจก่อนว่า ชุมชนแหล่งนี้ เราไม่ได้แต่งเติมใดๆ เคยมีนักท่องเที่ยวบางท่านบ่นว่าผิดหวัง ไม่มีอะไรตื่นตาตื่นใจเลย แต่นี่คือ สภาพความเป็นจริงของพวกเรา แม้การท่องเที่ยวจะช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่พวกเราต้องการให้เป็นการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ ไม่กระทบกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่เคยเป็นมา ซึ่งพวกเราเชื่อว่าแนวทางนี้ จะทำให้การท่องเที่ยวในบ้านแม่ปิงเกิดความยั่งยืน” ผู้ใหญ่บ้าน กล่าว



* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น