xs
xsm
sm
md
lg

“ชมดี” กุนเชียงเจ้าดังเมืองอุบล สูตรเด็ดจากเสียงด่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลิตภัณฑ์กุนเชียง ยี่ห้อ “ชมดี”
การทำอาหารให้ขายดี รสชาติต้องถูกใจลูกค้า อย่างเช่นรายผลิตภัณฑ์กุนเชียง และหมูยอ ยี่ห้อ “ชมดี” นำความคิดเห็น พร้อมคำตำหนิของลูกค้ามาพัฒนาต่อเนื่อง จากผู้ผลิตรายจิ๋ว แค่หารายได้เสริม ทุกวันนี้ ปักหลักเป็นโรงงานผลิตที่มีออเดอร์ส่งไปขายทั่วประเทศ และเป็นหนึ่งในสินค้าของฝากขึ้นชื่อประจำเมืองดอกบัวงาม

จารุณี ทีฆะทิพย์สุกล เจ้าของโรงงานชมดี เดิมเคยยึดอาชีพแม่ค้าขายเนื้อหมูสดในตลาดนัดที่ จ.อุบลราชธานี แต่เนื่องจากมีเนื้อหมูสดขายเหลือ เลยลองมาแปรรูปทำเป็นกุนเชียง นี่เป็นที่มาของธุรกิจ จากจุดเล็กๆ อันแสบเรียบง่าย

“ส่วนตัว ป้าไม่เคยทำกุนเชียงมาก่อน แรกๆ ก็อาศัยลองผิดลองถูก ไปซื้อของเจ้าดังๆ มาลองชิม แล้วลองแยกแยะทำเอง ทดสอบทำไปเรื่อยๆ เสร็จแล้วก็มาวางขายที่เขียงหมูของเรา หั่นกุนเชียงเป็นชิ้นเล็กๆ ให้ลูกค้าเดินผ่านไปมา ทดลองชิม ซึ่งจะมีทั้งคำติ และคำชม ถ้าเป็นคำชม เราก็จะเก็บไว้ แต่ถ้าเป็นข้อตำหนิ เช่น เค็มไป หวานไป เนื้อแข็งไป ฯลฯ ถ้าบ่นแค่ 1-2 คน เราก็จะเฉยๆ แต่ถ้าพูดเหมือนกันสัก 3-5 คน ป้าก็จะเก็บกลับไปปรับปรุง แล้วไปวางใหม่ จนได้รสชาติที่ลูกค้าส่วนใหญ่ชื่นชอบจารุณี เล่าจุดเริ่มต้น เมื่อประมาณ พ.ศ.2540

วิธีการดังกล่าว หากเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ น่าจะคล้ายการสำรวจตลาด เพื่อนำไปวิจัยและพัฒนา แต่สำหรับเธอ คิดแค่อยากทำกุนเชียงให้ดีที่สุด ลูกค้ากินแล้วชอบ ติดใจในความอร่อย แล้วกลับมาซื้อซ้ำ พร้อมได้คำ “ชม” ว่า “ดี” ซึ่งภายหลังกลายเป็นแรงบันดาลใจตั้งชื่อโรงงานว่า “ชมดี”

จารุณี เล่าว่า ช่วงแรกลงทุนแค่ 4-5 พันบาท แปรรูปขายที่เขียงหมู ครั้งละประมาณ 10 กิโลกรัม แต่หลังจากผ่านไป 1-2 เดือน ลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เฉพาะแค่มาซื้อที่ตลาดสด ยังมีลูกค้าเซลล์แมนจากกรุงเทพฯ มาสั่งสินค้าไปขายยังเมืองหลวง ต่อจากนั้น ได้ออเดอร์ต่อเนื่องจากทั่วประเทศ ยอดผลิตจากหลักสิบกิโลกรัมต่อสัปดาห์ เพิ่มเป็นหลักร้อย และกลายเป็นหลักตัน ภายในเวลา 2 ปี

ในที่สุด อาชีพที่คิดจะทำเป็นรายได้เสริม กลายมาเป็นงานหลัก และในปีพ.ศ.2545 เปลี่ยนการผลิตแบบครัวเรือน มาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเต็มตัว บนเนื้อที่กว่า 6 ไร่ ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ถ.แจ้งสนิท ต.แจระแม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี นอกจากนั้น ปี พ.ศ.2547 ยังได้รับคัดเลือกเป็นสินค้าโอทอป 5 ดาวของจังหวัดอีกด้วย

ป้าคนขยัน เล่าเสริม หลังจากมีกุนเชียงเป็นสินค้าขายดีแล้ว เริ่มทำสินค้าตัวอื่นๆ ออกมาต่อเนื่อง เช่น หมูยอ กุนเชียงปลา และหมูหยอง ทั้งหมดยึดวิธีการเดิม คือ หลังทำแล้วไปวางให้ลูกค้าทดลองชิม เพื่อจะรู้ความต้องการแท้จริง จากนั้นนำกลับมาปรับปรุงให้ได้ความอร่อยแบบที่ผู้บริโภคต้องการ ควบคู่กับปรับปรุงเรื่องมาตรฐานการผลิต ซึ่งปัจจุบันโรงงานได้มาตรฐานระดับ GMP

อีกเกร็ดที่น่าสนใจของผู้ประกอบการรายนี้ ถ่ายทอดเพื่อเป็นตัวอย่างแก่เอสเอ็มอีรายย่อยอื่นๆ หนึ่งปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้ธุรกิจมาถึงทุกวันนี้ได้ เกิดจากความเอาใจใส่ที่จะเดินเข้าหาความช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เจ้าตัวยืนยันว่า ทุกวันนี้ หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมเอสเอ็มอีพร้อมยื่นมือมาช่วยผู้ประกอบการอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญตัวผู้ประกอบการต้องกล้าจะเป็นฝ่ายเดินเข้าไปติดต่อ รวมถึง ยอมเปิดใจและพร้อมจะพัฒนาตัวเองตามการแนะนำของหน่วยงานต่างๆ

ตัวอย่างเช่น ช่วงที่ต้องการปรับปรุงโรงงาน ได้ใช้บริการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ในโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ จำนวน 10 ล้านบาท ซึ่งเวลานั้น ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ด้วยการใช้บริการของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ทำหน้าที่ค้ำประกันจนเข้าถึงแหล่งทุนสำเร็จ

หรือด้านการพัฒนาสินค้า ก็ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) รวมถึง ด้านการตลาด กระทรวงพาณิชย์ ส่งเสริมพาไปเปิดตลาดประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึง ได้รับคัดเลือกเป็นสินค้าโอทอป จากกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

“ที่มีวันนี้ได้ ป้าคิดว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากความช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งการมีเจ้าหน้าที่มาแนะนำความรู้ หรือพาไปเปิดตลาดต่างๆ สำหรับป้ามันคือการเปิดหูเปิดตา ป้าไม่เคยปฏิเสธที่จะปรับปรุงพัฒนาสินค้า หรือพัฒนาตัวเอง เหมือนกันที่เรานำคำตำหนิของลูกค้ามาปรับปรุงรสชาติ ทุกอย่างมีประโยชน์ที่เราสามารถเก็บมาใช้ได้” คำกล่าวซื่อๆ ตรงๆ บ่งบอกทัศนคติในการเป็นคนไม่หยุดพัฒนาของเธอได้เป็นอย่างดี

สินค้าของโรงงานชมดี ในปัจจุบันจะเน้นขายส่งให้แก่ตัวแทนประมาณ 10 ราย ส่งไปขายต่อทั่วประเทศ รวมถึง ส่วนหนึ่งไปขายยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เวียดนาม และจีน ควบคู่กับขายปลีกที่หน้าโรงงานของตัวเอง กับขายอยู่หน้าโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี รวมถึงออกบูทตามงานแสดงสินค้าชุมชนต่างๆ โดยราคาขายปลีกสำหรับกุนเชียง กิโลกรัมละ 240 บาท หมูยอ กิโลกรัมละ 150 บาท และหมูยอ ชิ้นละ 35 บาท ยอดผลิตสินค้าเฉลี่ยประมาณ 2,000 กิโลกรัมต่อเดือน หรือคิดเป็นรายได้ประมาณ 2 ล้านบาทต่อเดือน

นอกจากนั้น ด้วยกระแสตลาดการค้าชายแดนที่ด่านช่องเม็กเติบโตต่อเนื่อง เธอเล่าแผนที่คิดไว้ในปีหน้า (2558) เตรียมต่อยอด เปิดร้านขายสินค้าแห่งใหม่ ที่จัดเต็มทั้งโชว์กระบวนการผลิต ขายผลิตภัณฑ์ และบริการอาหาร รองรับลูกค้าเมืองลาวที่แวะเวียนมาชอปสินค้าจากฝั่งไทย

“ประเทศลาว มีกำลังซื้อนะ คนลาวจำนวนไม่น้อยที่เป็นกลุ่มที่รวยจริงๆ เวลามาซื้อของแทบไม่มีต่อเลย กำลังซื้อเขาสูงมาก ดังนั้น ปีหน้า ป้าก็เตรียมพื้นที่ไว้แล้ว เพื่อจะเปิดร้านของเราเอง ซึ่งครบวงจร ตั้งแต่โชว์การผลิต แล้วนำมาปรุงให้กิน รวมถึงซื้อกลับไปเป็นของฝากได้ด้วย ” เจ้าของยี่ห้อชมดี กล่าว

นี่คือหนึ่งในตัวอย่างผู้ประกอบการที่เริ่มจากจุดเล็กๆ ค่อยๆ พัฒนาด้วยการนำคำแนะนำจากลูกค้ามาพัฒนาจนประสบความสำเร็จ

โทร.08-1879-0469 , 08-1878-6009
จารุณี ทีฆะทิพย์สุกล เจ้าของโรงงานชมดี
สูตรจากคำแนะนำของลูกค้า



ป้าไม่เคยปฏิเสธที่จะปรับปรุงพัฒนาสินค้า หรือพัฒนาตัวเอง เหมือนกันที่เรานำคำตำหนิของลูกค้ามาปรับปรุงรสชาติ ทุกอย่างมีประโยชน์ที่เราสามารถเก็บมาใช้ได้”

โรงงานชมดี  ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ถ.แจ้งสนิท ต.แจระแม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

กำลังโหลดความคิดเห็น