xs
xsm
sm
md
lg

กสอ.ติดปีกสินค้าชุมชน กำจัดจุดอ่อนการตลาด อุ้มพาขายห้างดังทั่วโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม
กสอ.คัดผู้ประกอบการสินค้าชุมชน 400 รายเข้าเติมศักยภาพพัฒนาสินค้าโดยใช้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมอุดจุดอ่อนด้านการตลาด คัดเลือก 100 รายที่มีศักยภาพจับคู่ธุรกิจ พาพบตัวแทนผู้ซื้อห้างดังทั่วโลกโดยตรง เปิดโอกาสรับออเดอร์ช่วงปีใหม่

นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมได้จัดโครงการพัฒนาสินค้าของผู้ประกอบการชุมชน โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นนำมาต่อยอดสร้างสินค้าให้เหมาะแก่การส่งออกตลาดต่างประเทศ

สำหรับปีนี้ (2557) ดำเนินโครงการภายใต้งบประมาณสนับสนุน 45.2 ล้านบาท ซึ่งจะคัดเลือกผู้ประกอบการจาก 4 ภาค ได้แก่ เหนือ กลาง อีสาน และใต้ เข้าร่วมโครงการ จำนวน 400 ราย พัฒนาสินค้าจำนวน 800 ผลิตภัณฑ์ แบ่งกระบวนการเป็น 2 ด้าน คือ ด้านพัฒนาความรู้ ซึ่งได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา และด้านการตลาด โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งจาก 400 รายที่ผ่านการพัฒนาความรู้แล้ว จะต้องมาคัดเลือกเหลือ 100 รายเข้าสู่กระบวนการตลาด ทั้งการทดสอบตลาดจริง และพาพบตัวแทนผู้ซื้อเพื่อให้เกิดการจับคู่ธุรกิจ จากทั้งตลาดนิชมาร์เกต และห้างชั้นนำทั่วโลก เช่น Ross stores USA, Franc France Japan, Coin Italy , Habitat UK เป็นต้น ซึ่งจะสร้างโอกาสในการรับคำสั่งซื้อจากต่างชาติที่จะไปขายในเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่

ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมกล่าวว่า สิ่งสำคัญในโครงการนี้จะเข้ามาลดช่องว่างด้านการผลิต กับการตลาดของผู้ประกอบการชุมชน ซึ่งจากเดิมผู้ประกอบการชุมชนของไทยมักจะเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการผลิต แต่ไม่ถนัดเรื่องการทำตลาด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่โครงการนี้จะนำผู้ประกอบการเข้ารับการดูแลจากผู้เกี่ยวข้องโดยตรงมาช่วยพัฒนาสินค้าให้ตรงความต้องการของลูกค้าและตลาด รวมถึงเป็นตัวกลางช่วยเจรจาการค้า และหาตลาดให้แก่ผู้ประกอบการชุมชน

“โครงการนี้เราไม่ได้จะพาชาวบ้านไปออกบูทขายต่างประเทศ แต่เป็นโครงการเพื่อลดช่องว่างในอดีต ที่ผู้ประกอบการชุมชนของเราจะเก่งแต่ผลิต ดังนั้น เราจัดการผู้เชี่ยวชาญมาช่วยให้ชาวบ้านได้ทำงานตามศักยภาพ ในขณะที่เรื่องพัฒนาสินค้าและการเจรจาการค้า รวมถึงการหาตลาดในต่างประเทศ เราจะให้ผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่เชื่อมตรงกลางให้ ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่เคยมีส่วนนี้มาก่อน”

นางสาวนิสากรกล่าวต่อว่า สำหรับโครงการในปีหน้า (2558) จะดำเนินการต่อเนื่อง แต่จะเพิ่มเติมด้านการนำภูมิปัญญาชนเผ่ามาสร้างจุดเด่น ภายใต้งบดำเนินการ จำนวน 53.5 ล้านบาท โดยจะคัดผู้ประกอบการมาเข้าร่วม 450 ราย และพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างน้อย 900 ผลิตภัณฑ์

ด้านนายเกรียงไกร กิตติรัตน์ตระการ กรรมการ บริษัท สยาม การัต อินเตอร์เนชั่ลแนล จำกัด ตัวแทนผู้ซื้อให้กับห้างชั้นนำในตลาดระดับบนและลูกค้ารายใหญ่ตลาดต่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทฯ เป็นตัวแทนให้ลูกค้าผู้ซื้อต่างชาติกว่า 20 ราย ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และเอเชีย โดยมีตั้งแต่ห้างระดับไฮเอนด์ จนถึงร้านค้าปลีกรายใหญ่และเล็ก โดยการมาช่วยโครงการนี้เพื่อจะจัดหาสินค้าของผู้ประกอบไทยที่เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ

ทั้งนี้ สินค้ามีโอกาสจะได้รับออเดอร์ สิ่งสำคัญต้องมีดีไซน์เป็นสากล เหมาะสมในแต่ละตลาด ซึ่งในโครงการนี้บริษัทฯ จะนำดีไซเนอร์และความต้องการของลูกค้ามาพัฒนาการผลิตของผู้ประกอบการชุมชนรายต่างๆ โดยการจับคู่ธุรกิจจะพิจารณาตามความเหมาะสมของลูกค้าแต่ละราย รวมถึงศักยภาพของผู้ผลิตชุมชน ทั้งในแง่ของการผลิต และคุณภาพ

ด้านนายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ ในฐานะเลขาธิการสมาพันธ์ไลฟ์สไตล์ กล่าวว่า คาดจะมีผู้ประกอบการผ่านการพัฒนาสินค้าและได้รับการคัดเลือกนำสินค้าไปทดสอบตลาดในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 50 ราย และคาดว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการโดยรวมไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


หนึ่งในสินค้าจากผู้ประกอบการชุมชนที่เข้าโครงการ
นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ ในฐานะเลขาธิการสมาพันธ์ไลฟ์สไตล์
กำลังโหลดความคิดเห็น