xs
xsm
sm
md
lg

สวท.ขอเยอะ วอนเว้นตรวจภาษีย้อนหลัง จูงใจเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สวท.)
สวท.เสนอภาครัฐนิรโทษกรรมเอสเอ็มอียกเว้นการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง จูงใจเข้าสู่ระบบ เชื่อจะช่วยให้เกิดการสร้างรายได้ในรูปแบบต่างๆ ตามมากว่า 3 หมื่นล้านบาท พร้อมเข้าพบ รมว.อุตฯ ช่วยผลักดัน พ.ร.บ.สภาเอสเอ็มอี

นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สวท.) กล่าวว่า จากที่รัฐบาลต้องการให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าระบบการขึ้นทะเบียนภาครัฐเพื่อได้รับความช่วยเหลือได้โดยตรงและถูกต้องนั้น ทว่า อุปสรรคใหญ่ที่เอสเอ็มอีจำนวนมากไม่อยากเข้าระบบเพราะเกรงถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 2.79 ล้านราย แต่มีเอสเอ็มอีที่เข้าระบบเพียง 390,000 ราย ส่วนที่เหลืออยู่นอกระบบทั้งสิ้น

ดังนั้น ทาง สวท.ซึ่งกำลังผลักดันการจัดตั้งสภาเอสเอ็มอี จึงอยากขอร้องให้ภาครัฐ นิรโทษกรรมเอสเอ็มอีด้วยการยกเว้นการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ซึ่งเชื่อว่าจะจูงใจให้เอสเอ็มอีอยากเข้ามาขึ้นทะเบียนเข้าสู่ระบบจำนวนมาก และเมื่อเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบจำนวนมากแล้ว เชื่อว่าจะสร้างรายได้เข้าประเทศทั้งในรูปแบบภาษี และรายได้อื่นๆกว่า 3 หมื่นล้านบาท

นอกจากนั้น ทาง สวท.ได้หารือกับนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนการจัดตั้งสภาเอสเอ็มอี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานให้มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รองรับ หลังจากนี้ สวท.จะผลักดันผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

นางเพ็ญทิพย์ระบุด้วยว่า ขณะนี้มีเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมกับ สวท.แล้ว 12 กลุ่ม สมาชิกรวมกัน 210,000 ราย เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของเอสเอ็มอี ให้หน่วยงานรัฐได้นำไปพัฒนาแนวทางความช่วยเหลือและสนับสนุนเอสเอ็มอี

ด้าน นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เบื้องต้นเห็นด้วยกับการตั้งสภาเอสเอ็มอี แต่การออก พ.ร.บ.จะต้องทำประชาพิจารณ์ และจะต้องไม่ขัดกับกฎหมายเดิมก่อนหน้านี้ ซึ่งกฎหมายการตั้งสภาเอสเอ็มอีจะมีรูปแบบในการดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในแนวราบรวมกลุ่มเอสเอ็มอีทั้งหมดทุกสาขา แต่ในกฎหมายอื่นๆ จะมีรูปแบบเป็นแนวตั้ง โดยในแต่ละหน่วยงานที่ดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะแยกเป็นกลุ่มต่างๆ อย่างเฉพาะเจาะจง

อย่างไรก็ตาม ต้องลงไปดูในรายละเอียดว่าการออก พ.ร.บ.สภาเอสเอ็มอีจะไปขัดแย้งกับกฎหมายฉบับอื่นหรือไม่ ซึ่งควรจะเน้นในเรื่องสาระมากกว่าเรื่องรูปแบบ โดยหลังจากนี้มอบหมายให้ นายปราโมทย์ วิทยาสุข ว่าที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเอสเอ็มอี เข้าไปดูแลโดยตรงเป็นการเฉพาะ

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น