xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ปฏิรูปการเมืองชงให้วุฒิสภาแก้วิกฤตการเมือง ตัดปาร์ตี้ลิสต์ มี ส.ส.เขตอย่างเดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เสรี สุวรรณภานนท์
คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเมืองฯ เสนอให้ใช้วุฒิสภาแก้ปัญหาหากเกิดวิกฤตการเมืองไม่มีนายกฯ และสภาผู้แทนฯ ระบุใช้องค์กรอื่นอาจสร้างความขัดแย้ง ส่วนการได้มาซึ่ง ส.ส.ที่ดี ต้องกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของผู้สมัครให้เข้มข้น เปิดเผยการเสียภาษีย้อนหลัง 5 ปี และให้มีแค่ ส.ส.เขต

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.) แถลงสรุปแนวทางการปฏิรูปด้านการเมืองโดยให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศที่ผ่านมา คือ 1. การให้ได้นักการเมืองที่ดี ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ให้มีจริยธรรมและคุณธรรม รักษาประโยชน์ของประเทศและประชาชน ไม่ทุจริตคอร์รัปชันและสามารถบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี 2. การให้ได้มาซึ่งระบบการเมืองที่ดีและเหมาะสมกับสังคมไทยโดยผ่านพรรคการเมือง

3. ให้มีการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม ให้มีมาตรการป้องกันการลงทุนในทางการเมืองเพื่อตัดตอนไม่ให้ไปสู่การถอนทุนและการทุจริตคอร์รัปชัน 4. ให้มีองค์กรตรวจสอบและมีมาตรการการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ เพื่อควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจ 5. สร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ดีเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนทั่วไปเพื่อสร้างขนบธรรมเนียมอันดีงามในทางการเมือง โดยใช้มาตรการให้ความรู้และให้การศึกษาตั้งแต่เยาว์วัย 6. มีมาตรการการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองให้กับคนในชาติ

“เมื่อเกิดกรณีวิกฤตปัญหาทางการเมือง ไม่มีนายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ เบื้องต้นคณะ กมธ.เสนอให้วุฒิสภาเป็นหน่วยงานพิจารณาในการแก้ปัญหา ซึ่งเห็นว่าเป็นทางออกที่ดีมากว่าเสนอสร้างองค์กรหนึ่งองค์กรใด อาทิ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) หรือองค์กรที่มีอำนาจเหนือรัฐบาล เพราะอาจจะสร้างความขัดแย้งมากขึ้นในทางการเมือง ทั้งนี้จึงเห็นว่าควรใช้องค์กรที่มีอยู่เดิมเพื่อแก้ไขปัญหาในส่วนนี้” นายเสรีกล่าว

ด้านนายวันชัย สอนศิริ โฆษก กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กล่าวว่า ในส่วนการให้ได้มาซึ่งนักการเมืองที่ดีนั้น กมธ.เห็นว่า 1. ต้องกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งให้มีความเข้มข้นกว่าที่เคยกำหนด เพื่อคัดกรองบุคคลในเบื้องต้นก่อนที่จะให้ประชาชนเลือกตั้ง 2. การให้ผู้สมัครต้องเปิดเผยสำเนาการชำระภาษีย้อนหลัง 3 ปี ให้ประชาชนตรวจสอบได้ง่าย 3. ผู้ประสงค์จะรับสมัครเลือกตั้งต้องแสดงความจำนงต่อคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อแสดงตนและแนะนำตนต่อสาธารณะก่อนประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 1 ปี 4. ให้มี ส.ส.เฉพาะระบบเขตจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้นายทุนเข้าครอบงำพรรคการเมืองผ่านระบบการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 5.การให้ประชาชน 1 คน เลือก ส.ส.ได้ 1 คนตามหลัก 1 คน 1 เสียง 6. ให้ ส.ว.มีอำนาจเฉพาะการกลั่นกรองกฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น