ทุกวันนี้นักการตลาดให้ความสำคัญกับการตลาดดิจิตอลมากขึ้น และเมื่อกล่าวถึงดิจิตอล มาร์เก็ตติ้ง หลายคนก็คิดถึง “เฟซบุ๊ค” เพราะว่าในประเทศไทยเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์คยอดนิยม อีกทั้งพฤติกรรมปัจจุบันผู้บริโภคออนไลน์อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นบรรดาแบรนด์ต่างๆ จึงต้องมุ่งเน้นทำการสื่อสารบนเฟซบุ๊ค
อย่างไรก็ตาม การสื่อสารและโฆษณาบนเฟซบุ๊คให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย การสร้างคอนเทนต์ (Content) ที่ดี มีจุดร่วมที่ต้องให้ความใส่ใจ ควรคำนึงถึงในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ทางเฟซบุ๊ค ดังนี้
-คำนึงถึง คุณค่าในระยะยาว (Life Time Value) ของแบรนด์
ไม่ใช่แค่การฉวยโอกาสจับกระแสที่โด่งดังในตอนนั้นแล้วให้ผลเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ต้องสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่สะท้อนบุคลิกมีเรื่องราวบ่งบอกถึงแบรนด์ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามต้องเป็นคอนเทนต์ที่ไม่ได้กล่าวถึงแต่แบรนด์เพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจความสนใจของผู้ติดตามในเฟซบุ๊ค เช่น บอกแต่โปรโมชั่นจากแบรนด์เท่านั้น แต่ไม่มีคอนเทนต์อื่นใดที่ปฏิสัมพันธ์กับผู้ติดตามในเฟซบุ๊คเลย ส่วนคอนเทนต์ที่มีคุณภาพยังสร้าง Viral Reach เมื่อผู้ติดตามกดแชร์หรือกดไลค์ด้วย
-Good Content & Good Reach
บางแบรนด์ไม่ยอมลงทุนกับคอนเทนต์ หรือบางองค์กรก็ลงทุนกับคอนเทนต์แล้วหวังว่าจะมีผู้เข้ามาพบเห็นเอง แต่ความจริงแล้ว คอนเทนต์ที่มีความคิดสร้างสรรค์เหมาะสมกับแบรนด์มีความสำคัญ แต่สื่อที่จะเผยแพร่ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะเป็นช่องทางที่จะทำให้คอนเทนต์ถูกพบเห็นมากขึ้น และถ้าหากว่าคอนเทนต์ที่ถูกทำขึ้นมาไม่ได้สร้าง Organic Reach หรือ Viral Reach การลงทุนโปรโมตเพื่อให้เกิด Paid Reach เข้าทดแทนก็น่าจะเป็นหนทางที่ช่วยผลักดันให้ Key Message ที่แบรนด์ต้องการสื่อสาร ได้รับการพบเห็นจากกลุ่มเป้าหมาย
-สร้างบทสนทนา (Conversation)
มีพื้นที่ให้กับผู้บริโภคเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมกับคอนเทนต์ที่นำเสนอ จนเหมือนเป็นการพูดคุยกันระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค ไม่ใช่แค่การพูดจากแบรนด์เพียงด้านเดียว เมื่อทำแบบนี้แล้ว นอกจากจะเป็นเพิ่มค่าปฏิสัมพันธ์ (Engagement) ซึ่งมีส่วนทำให้แฟนเพจกลายเป็นแฟนเพจที่มีคุณภาพดี คอนเทนต์ได้รับการเข้าถึงมากขึ้นแล้ว ยังทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเมื่อมีปัญหา หรือต้องการติ ชมใดๆ ก็สามารถทำได้ที่ช่องทางเฟซบุ๊คทางการของแบรนด์เลย ซึ่งการที่ผู้บริโภควิจารณ์ทั้งในทางบวกและในทางลบที่พื้นที่ของแบรนด์ถือว่าเป็นเรื่องดี และดีกว่าการปล่อยให้ผู้บริโภคแสดงความคิดเห็นเชิงลบในพื้นที่สาธารณะอื่น เพราะการได้รับคอมเมนต์โดยตรงนั้น นำไปสู่การรับมือ, แก้ปัญหา หรือปรับปรุงสินค้าหรือบริการได้อย่างทันท่วงที
-รวมหลายสื่อเข้าด้วยกัน (Integrate)
ทุกวันนี้โซเชี่ยลมีเดียไม่ได้มีแค่เฟซบุ๊คเท่านั้น การใช้สื่อหลายๆ เครื่องมือก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้แบรนด์ถูกพบเห็นมากขึ้น เช่น การใช้ทวิตเตอร์อาจนำพามาสู่กิจกรรมในเฟซบุ๊คก็อาจเป็นหนทางหนึ่ง อย่างไรก็ตามต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมตามสภาพของสื่อนั้นๆ โดยอาศัยความเข้าใจธรรมชาติของโซเชี่ยลมีเดียแต่ละชนิด หรือแม้แต่สื่อดั้งเดิมก็สามารถทำร่วมกับเฟซบุ๊คได้ เช่น เมื่อสื่อสารคุณสมบัติของสินค้าเบื้องต้นในภาพยนตร์โฆษณาแล้วให้กลุ่มเป้าหมายศึกษาต่อเพิ่มเติมในเฟซบุ๊ค หรือรายทางโทรทัศน์หลายรายการก็ใช้เฟซบุ๊คเป็นตัวกระตุ้นอารมณ์ของผู้ชมให้เข้าถึงมากขึ้นในช่วงที่รายการออกอากาศ
-การนำเสนอคอนเทนต์ด้วย ความสม่ำเสมอ (Consistency)
เมื่อวางแนวทางในการนำเสนอคอนเทนต์ได้อย่างดีแล้ว การนำเอาเนื้อหาเหล่านั้นมาเผยแพร่อย่างสม่ำเสมอ อัพเดท ก็เป็นเรื่องที่ต้องวางแผน ถึงแม้ว่ามีคอนเทนต์ที่ดีแต่ห่างหายไปนานผู้บริโภคก็อาจหลงลืมไปได้ เพราะในแต่ละวันผู้บริโภคได้รับข่าวสารทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์มากมาย เฉพาะในเฟซบุ๊คเองก็มีแฟนเพจเป็นจำนวนมากและต่างก็โพสต์ข้อความของตัวเองทุกวัน
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของข้อสรุปที่อาจพูดได้ว่าการทำตลาดบนเฟซบุ๊คล้วนแล้วแต่ต้องใช้งบประมาณ ควบคู่ไปกับความเข้าใจในการสื่อสารอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผลิตคอนเทนต์ให้ได้คุณภาพ ถูกใจผู้บริโภค หรือการเพิ่มช่องทางการรับรู้ส่งคอนเทนต์ดีๆ เหล่านั้นไปสู่สายตาผู้บริโภคให้ได้
Key Take Away to Marketers: การสื่อสารบนเฟซบุ๊ค ต้องเริ่มต้นอย่างมีกลยุทธ์ แล้วนำกลยุทธ์นั้นไปต่อยอดในกระบวนการสร้างสรรค์จนการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ และนำพาคอนเทนต์นั้นไปอยู่ในช่องทางที่กลุ่มเป้าหมายพบเห็น เพื่อทำให้แบรนด์ได้รับความสนใจในเฟซบุ๊คในช่วงนั้น ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภคได้ในระยะยาวไปพร้อมๆ กันด้วย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *