xs
xsm
sm
md
lg

แรบบิทส์ เทลล์ ชี้ดิจิตอล เอเยนซี มาแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นาย สุนาถ ธนสารอักษร ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แรบบิทส์ เทลล์ จำกัด
แรบบิทส์ เทลล์ เปิดตัว 4 ผู้บริหารรุ่นใหม่ ชี้กระแสดิจิตอลมาแรง ดันบริษัทเติบโตแบบก้าวกระโดด ชี้จุดแข็งบริษัทแหล่งรวมคนสายพันธุ์ดิจิตอล เน้นฉีกกรอบโฆษณาแบบเดิมๆ ตั้งเป้าปีนี้เติบโตอีก 1 เท่าตัว ทั้งแง่ในรายได้ และบุคลากร คาดจะมีลูกค้าประจำรายใหญ่เพิ่มเป็น 10 ราย พร้อมเผย 7 เทรนด์ดิจิตอลที่เอเยนซีต้องรับมือ

นายสุนาถ ธนสารอักษร ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท แรบบิทส์ เทลล์ จำกัด กล่าวถึงที่มาของการเปิดบริษัทดิจิตอล เอเยนซี ว่า จุดกำเนิดของแรบบิทส์ เทลล์ เริ่มขึ้นเมื่อปี 2552 เกิดจากคนรุ่นใหม่ 2 คนที่เกิดในยุคดิจิตอล คือ ตนเอง และนายชนินทร์ อรัญวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน ที่หลงใหล และเชื่อในพลังของดิจิตอลว่าสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่โลกเป็นอยู่ นอกจากนี้ ยังมีผู้บริหารอีก 2 คน คือ นายสโรจ เลาหศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์กลยุทธ์ และ นายรุ่งโรจน์ ตันเจริญ กรรมการผู้จัดการ ร่วมบริหารด้วย

ทามกลางแนวโน้มการทำการตลาดผ่านสื่อดิจิตอลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การเติบโตของบริษัทสามารถมีกำไรได้ภายในปีที่ 3 ของการทำธุรกิจ ปัจจุบัน มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตในแง่ของรายได้ถึง 152% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่ภาพของอุตสาหกรรมการโฆษณาดิจิตอลโดยรวมโตแค่ 30% โดยคาดว่าภายในปีนี้บริษัทจะเติบโตอีก 1 เท่าตัว ทั้งในแง่ของรายได้ และบุคลากรที่จะเพิ่มขึ้นจาก 70 คน เป็น 100 คน และถือเป็นเอเยนซีไทยที่เติบโตเร็วที่สุดในปี 2558
นายรุ่งโรจน์ ตันเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แรบบิทส์ เทลล์ จำกัด
“จุดแข็งของ แรบบิทส์ เทลล์ คือ เรื่องคน และวัฒนธรรมองค์กร ที่นี่เป็นแหล่งรวมคนสายพันธุ์ดิจิตอล เป็นคนรุ่นใหม่ มีไฟ ที่เกิด และใช้ชีวิตกับมัน อายุเฉลี่ยของผู้บริหาร และพนักงานทั้งบริษัทแค่ประมาณ 25-30 ปี หายใจเข้า-ออกเป็นดิจิตอล มีความเข้าอกเข้าใจ คิด และทำแบบดิจิตอล มีความตั้งใจ และความเชื่อในดิจิตอลเหมือนๆ กัน กระหายไอเดียสร้างสรรค์แปลกใหม่ ไม่เคยหยุดคิด ชอบฉีกกรอบการทำโฆษณายุคเดิมๆ สะท้อนมุมมองของผู้บริโภคแบบ Outside-in ด้วยความเชื่อที่ว่า ดิจิตอลไม่ได้เป็นเพียงเทคโนโลยี หรือออนไลน์ หรือเก็ดแจ็ท แต่ดิจิตอลคือ ชีวิต และเป็นหนึ่งปัจจัยในการดำรงชีวิตของคนไปแล้ว”

ในส่วนของการทำธุรกิจ ประกอบด้วย 4 บริการ ได้แก่ 1.การให้บริการที่ปรึกษา วางแผนกลยุทธ์การตลาด สร้างสรรค์แคมเปญ ช่องทางการสื่อสารการตลาด ตลอดจนการสร้างแบรนด์ผ่านดิจิตอล 2.การให้บริการบริหารจัดการโซเชียลมีเดีย และสร้างสรรค์คอนเทนต์บนโลกโซเชียล 3.การให้บริการ ออกแบบ สร้างสรรค์ พัฒนา และผลิตงานดิจิตอลในรูปแบบต่างๆ เช่น เว็บไซต์, แอปพลิเคชัน และ 4.การให้บริการด้านสื่อดิจิตอลทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันบริการแรกมีสัดส่วนมากที่สุดถึง 50% และคาดว่าภายในปีนี้น่าจะมีบริการใหม่ๆ เพิ่มขึ้นด้วย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้

ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา แรบบิทส์ เทลล์ ได้รับความไว้วางใจจากแบรนด์ชั้นนำให้เป็นผู้สร้างสรรค์แคมเปญทางการตลาด และไอเดียดิจิตอลมากมาย เช่น SCG, AIS, SAMSUNG, CP, สิงห์คอร์ปอเรชั่น, CANON, COTTO, AXE, NIVEA, MISTER DONUT, SRICHAND FOR MEN, VERANDA ฯลฯ โดยมีผลงานที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างแคมเปญ 5 วินาทีก็เพียงพอ คลิปโฆษณาของเก็กหล่อท้าทายปุ่ม SKIP AD ของ YouTube เป็นเจ้าแรกในประเทศไทย จนได้ผ่านเข้ารอบ Finalist ของ ADMAN เป็นการอ่านใจ และพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคออนไลน์ที่มีความอดทนในการรอน้อยลงทุกที ด้วยการครีเอตคอนเทนต์ที่กระตุกความสนใจให้คนดูคลิปจนจบ ไม่กดปุ่มข้ามไปเสียก่อน ถือเป็นอีกหนึ่งโซลูชันที่ออกมาแก้ปัญหาเรื่องคนกดข้ามไม่ดูคลิปโฆษณาบน YouTube จนทำให้คนดูโฆษณาจบสูงถึง 98% และยังมีแคมเปญสร้างสรรค์สังคมอย่าง Canon Redefine ที่ให้ช่างภาพ Canon ส่งรูปนิยามใหม่ของตัวอักษร ก-ฮ มาสร้างเป็นแบบเรียน ก-ฮ ใหม่ที่สวยที่สุดเพื่อแจกจ่ายไปยังโรงเรียนกว่า 400 โรงเรียนทั่วประเทศ และอื่นๆ อีกมากมายที่กำลังจะออกสู่สายตาประชาชน โดยตั้งเป้าว่าปีนี้จะเพิ่มลูกค้ารายใหญ่ที่เป็นลูกค้าประจำเป็น 10 ราย
นายสโรจ เลาหศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์กลยุทธ์ บริษัท แรบบิทส์ เทลล์ จำกัด
ด้าน นายสโรจ วิเคราะห์ถึงแนวโน้มทางดิจิตอลที่จะได้เห็นในปีนี้ว่า จะมีแนวโน้ม 7 ประการที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ 1.ผู้อพยพทางดิจิตอลกลุ่มสุดท้าย จากสมัยก่อนที่คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้จำกัดจากคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ปัจจุบัน เทคโนโลยีมือถือ และสมาร์ทโฟนราคาถูก ทำให้เกิดผู้อพยพกลุ่มใหม่เข้าสู่การใช้อินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใช้ที่เป็นผู้สูงอายุ หรือผู้ใช้ที่ขยายออกจากหัวเมืองชนบท ไปสู่เมืองห่างไกล การมาของสมาร์ทโฟนนี้ ทำให้เห็นการกระโดดของประชากรอินเทอร์เน็ต ที่อีกไม่กี่ปีก็จะทำให้ประชากรอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเข้าใกล้ 100% เข้าไปทุกที ในมุมนักการตลาดเราอาจต้องจับตาการมาของประชากรกลุ่มนี้ ที่ทำให้เราเห็นพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตในรูปแบบของตัวเอง เหมือนที่เราเห็นการส่งข้อความภาพดอกไม้ “สวัสดีเช้าวันจันทร์” ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ การมองหาสถานที่ Free Wifi เพื่อประหยัดค่าอินเทอร์เน็ต การเข้าถึงแหล่งเอ็นเตอร์เทนเมนต์ที่มีรสนิยมแตกต่างจากคนเมือง พฤติกรรมการใช้รูปแบบต่างๆ เหล่านี้คือ โอกาสใหม่ในการเข้าถึงใหม่ๆ ให้แก่นักการตลาด

2.กระแสแบบไมโคร ด้วยเทคโนโลยีและปริมาณข้อมูลที่สลับซับซ้อนมากขึ้น จะทำให้คำว่า “Micro” กลายเป็น prefix มาตรฐานให้แก่การทำตลาดในอนาคต คำว่า “Mass” อาจจะยังจำเป็นอยู่ในแง่การเข้าถึงคนในปริมาณมากๆ แต่คำว่า “Micro” จะเป็นการเข้าถึงที่เน้นเฉพาะเจาะจงไปยังตัวบุคคลมากขึ้น และนับวันจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป มีตัวเลือกมากขึ้น และเลิกดูสื่อที่เป็น “Mass” วันนี้จึงได้ยินคำว่า Micro-Moments จากกูเกิล แล้วยังได้ยินเรื่องการทำ Micro-targeting, Micro-location, Micro-Influencers และอีกมากมาย ในอนาคตเมื่อถึงการมาของยุค Big Data การสื่อสารก็อาจจะเล็กลงได้จนถึงระดับ “บุคคล” และเมื่อนั้นจะมีอาชีพเกิดใหม่ เช่น Data Scientist หรือ Data Visualizer นักการตลาดจึงต้องปรับตัวตามเทคโนโลยี และวิธีการทำการตลาดที่พึ่งพา data มากขึ้น

3.การตลาดให้ประโยชน์ แบรนด์มีหน้าที่มากกว่าขายของ เพราะผู้บริโภคยุค Gen C อยาก connect กับแบรนด์มากกว่าแต่ก่อน สิ่งที่ดีที่สุดคือ การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ หรือ Value ต่อผู้บริโภค เพราะฉะนั้น แบรนด์จึงต้องเป็นผู้ให้ก่อนที่จะเป็นผู้รับ โดยวิธีการเบื้องต้นคือ การสื่อสารคอนเทนต์ที่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภคเหมือนที่เราเห็นวิธีการเชิง How to หรือให้ข้อมูลดีๆ ต่อชีวิตผู้บริโภค ไม่ว่าจะเอื้อต่อการขายหรือไม่ก็ตาม เราเริ่มเห็นวิถีการทำ Useful Marketing แนวนี้บ้างแล้ว และจะเริ่มเห็นมากขึ้นในปีนี้แน่นอน ที่โฆษณาจะไม่ได้ขายของ แต่เป็นการให้ประโยชน์อะไรบางอย่างแก่ลูกค้า และลูกค้าจะให้ความชื่นชมแบรนด์มากกว่าโฆษณาแบบจงใจขายของตรงๆ
นายชนินทร์ อรัญวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท แรบบิทส์ เทลล์ จำกัด
4.สตาร์ทอัปที่อัปเกรดกว่าเดิม ปัจจุบัน เทรนด์สตาร์ทอัปมาแรงขึ้นเรื่อยๆ (UBER GRAB และ AirBnB เป็นตัวหนึ่งในตัวอย่างสตาร์ทอัปที่โด่งดังมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา) และหลังจากประเทศไทยได้ตื่นตัวเรื่องสตาร์ทอัปมาสักพัก มาปีนี้จะเห็นบริษัทที่มาจากสตาร์ทอัปมากขึ้น และเริ่มหันมาใช้กลยุทธ์ดิจิตอล มาร์เกตติ้ง มากขึ้น แทนการเติบโตแบบ Growth Hacking สำหรับรายที่ระดมทุนได้เยอะจำนวนหนึ่งแล้ว สิ่งที่เอเยนซีต้องตระหนัก คือ เราจะมีโอกาสได้เจอลูกค้าที่เป็นสตาร์ทอัป หรือ SMEs ที่ใช้ดิจิตอลมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้น ถ้าเป็น Startup เกิดใหม่ วิถีการทำธุรกิจแบบ Startup ก็แตกต่างจากการทำการตลาด หรือโฆษณาแบบปกติ ดังนั้น ตัวเอเยนซีเองก็ต้องพิจารณา Business Model และบุคลากรให้สอดคล้องต่อสิ่งนี้ด้วย

5.เศรษฐกิจพึ่งจีน เส้นทางสายไหมโลกใหม่ เมื่อเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะพึ่งพาจีนมากขึ้นเรื่อยๆ และจีนมีบทบาทต่อเรามากขึ้นทุกวัน สิ่งที่จะเกิดขึ้น หรือเห็นแล้วก็คือ เราอาจมีลูกค้าเป็นบริษัทข้ามชาติจากจีน แต่เราไม่เข้าใจวัฒนธรรม และภาษาของเขาในการทำธุรกิจ นอกจากนั้น ในมุมของดิจิตอลเอง ประเทศจีนก็มีแพลตฟอร์มการสื่อสารเป็นของตัวเอง อย่าง Baidu, Tao Pao, Weibo, We chat, Youku เราจึงควรพิจารณา หรือศึกษาแพลตฟอร์มเหล่านี้เพื่อใช้ในการวางกลยุทธ์ทางการตลาดสำหรับสินค้าที่มุ่งเป้าหมายยังกลุ่มคนจีนที่มาไทยด้วยเช่นกัน

6.แบรนด์ต้องเป็นคนดี มีศีลธรรม สังคมออนไลน์เมืองไทยคือ สังคมอุดมดรามาเหมือนที่เคยเห็นข่าวกระแสเชิงลบต่อต้านแบรนด์อยู่เป็นประจำ ทั้งหมดนี้เกิดจากแบรนด์ไม่ได้พิจารณาการทำตลาด หรือโฆษณาอย่างถี่ถ้วน การปกปิด หรือการหลีกเลี่ยงปัญหาในการทำสินค้า หรือแม้กระทั่งเรื่องราวกิจการภายในเองก็ไม่รอดที่จะถูกสอบสวนจากผู้บริโภค จากนักสืบพันทิป จาก Influencer ออนไลน์ พฤติกรรมในสังคมออนไลน์พร้อมแสดงออก และตัดสินความ “ดี-ไม่ดี” อยู่ตลอดเวลา ทำให้แบรนด์ต้องตื่นตัว การคิดงานต้องคิดในมุมบวก ไม่ควรนำประเด็นทางสังคมมาใช้ในการสื่อสารถ้าไม่จำเป็น ไม่ควรทำการตลาดแบบดูถูกผู้บริโภคอย่างการทำ Seeding ตามเว็บบอร์ดต่างๆ แบรนด์ต้องพร้อมถูกตรวจสอบ ต้องจริงใจ และควรเตรียมพร้อมเมื่อมีประเด็นเกิดขึ้น

7.การปรับตัวครั้งใหญ่ของโปรดักส์ชันเฮาส์ โดยในปีนี้จะมีการทำวิดีโอบนออนไลน์มากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่งบในการทำจะต้องประหยัดกว่า TVC ดังนั้น ในมุมคนทำโปรดักชันอาจต้องปรับตัวลด scale การทำงานลงมา ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับโจทย์ และลูกค้า โจทย์บางอย่างอาจต้องรักษาคุณภาพงานไว้ ดังนั้น จึงจะได้เห็นลูกค้าแนว SMEs ที่งบทำตลาดไม่ได้สูงแต่สนใจจะทำการทำโฆษณาบนดิจิตอลด้วยวีดีโอก็เป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดี การปรับตัวตามสภาพตลาดโฆษณาจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก หากปรับตัวไม่ทัน และยังไม่มีกลยุทธ์ด้าน Cost-Leadership หรือ Agile working แล้ว ทำให้อาจจะเห็น Production House หลายเจ้าต้องปิดตัวลงก็เป็นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น