xs
xsm
sm
md
lg

วาง 4 มาตรการด่วน ยกเครื่อง “เอสเอ็มอีแบงก์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“บอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์” ชุดใหม่ประชุมครั้งแรก แต่งอนุ กก. 5 ชุด สางปัญหาค้าง พร้อมวางแผนฟื้นฟูองค์กร 4 ด้านเร่งด่วน ประกอบด้วย บริหารหนี้เน่า รักษาฐานลูกค้าชั้นดี ปรับโครงสร้างเพิ่มสภาพคล่องการเงิน และปลุกขวัญพนง.
นางสาลินี  วังตาล ประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์)
นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า จากที่คณะกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ชุดใหม่ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และแต่งตั้งโดยที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 30 กรกฎาคม 2557 ได้มีการประชุมนัดแรกในวันที่ 8 สิงหาคม 2557 โดยมีการพิจารณาเรื่องที่สำคัญ ดังนี้

1.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดย่อย เพื่อกำกับดูแลด้านต่างๆ 5 ชุด ได้แก่

1) คณะกรรมการบริหาร โดยมี นางพรรณขนิตตา บุญครอง เป็นประธาน
2) คณะกรรมการตรวจสอบ โดยมี นายอัษฎางค์ เชี่ยวธาดา เป็นประธาน
3) คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง โดยมี นายลวรณ แสงสนิท เป็นประธาน
4) คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อสรรหากรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์
5) คณะอนุกรรมการฟื้นฟูกิจการเอสเอ็มอีแบงก์

2. จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ตามคำสั่งของ คสช. โดยเน้นปรับปรุงงาน 4 ด้านสำคัญ คือ

1)การบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยจัดกลุ่มลูกหนี้ตามสถานะ ได้แก่กลุ่มหนี้ ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) กลุ่มสินเชื่อที่มีคุณภาพอ่อน และต้องมีกระบวนการดูแลใกล้ชิด

ทั้งนี้ การจัดการกับลูกหนี้กลุ่ม NPLs ค้างนาน สถานะไม่ดำเนินธุรกิจไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ และเคยได้รับโอกาสปรับโครงสร้างหนี้มาหลายครั้ง กลุ่มนี้จะขออนุมัติต่อกระทรวงการคลังให้เปิดประมูลขายออกไปซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นแนวทางที่ยอมรับกันในระดับสากล และได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นแนวทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพสูง จากประสบการณ์วิกฤตสถาบันการเงินของประเทศไทยเองในปี 1997 และจาก Global crisis ในปี 2008-2012

กลุ่มลูกหนี้ที่ยังดำเนินธุรกิจ เอสเอ็มอีแบงก์จะใช้วิธีปรับโครงสร้างหนี้ หรือปรับตารางการชำระหนี้ โดยจะคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด เพื่อป้องกันมิให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ คณะกรรมการมีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะประคับประคองให้ ลูกหนี้ SMEs สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพราะ SMEs เป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับความเป็นอยู่ของคนไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม

"กลุ่มหนี้เสีย ที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ และเคยได้รับโอกาสปรับโครงสร้างหนี้มาหลายครั้ง กลุ่มนี้จะขออนุมัติต่อกระทรวงการคลังในวันที่ 21 ส.ค.นี้ ในการขายหนี้ออกไป 20,000 ล้านบาท แต่เป็นการทยอยขายไม่ใช่ขายทั้งหมดภายในครั้งเดียว ก็ต้องรอกระทรวงการคลังอนุมัติให้ขายก่อน ในตอนนี้เรามีหนี้เสียอยู่ที่ 34,000 ล้านบาท หรือ 38% ของยอด outstanding ที่มีอยู่ 88,000 ล้านบาท และในสิ้นปีถ้าเราขายหนี้ออกไปได้ เราก็จะมีหนี้เสีย ลดลงเหลือประมาณ 14,000 ล้านบาท ส่วนกลุ่มลูกหนี้ที่ยังดำเนินธุรกิจไปได้ จะช่วยประคับประคองให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้" นางสาลินี กล่าว

2) การบริหารสินเชื่อที่มีคุณภาพดี เอสเอ็มอีแบงก์จะเน้นการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าเดิมผ่านช่องทางสาขาทั้ง 95 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงต้องมีการขยายตัวของสินเชื่อ เพื่อเพิ่มรายได้ของธนาคาร โดยมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าตาม พันธกิจหลัก เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมากที่ไม่ได้รับโอกาสจากธนาคารภาคเอกชนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยมีต้นทุนที่พอเหมาะพอควร

ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรก ของปี 2557 เอสเอ็มอีแบงก์ พบว่า มียอดอนุมัติสินเชื่อใหม่เพียง 5,684 ล้านบาท และพบว่ามีความล่าช้าในการพิจารณา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ (Credit Process) เสียใหม่ให้มีประสิทธิภาพ มีกลไกการคานอำนาจ (Check and Balance) ที่ได้มาตรฐาน และเป็นไปได้ในทางปฏิบัติด้วย เพราะหากเข้มงวดจนเกินไปก็จะไม่เป็นการช่วยเหลือ SMEs ตามเจตนารมณ์ของพันธะกิจ ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถปรับปรุงได้ เพราะพนักงานสินเชื่อของเอสเอ็มอีแบงก์มีทักษะด้านสินเชื่ออย่างเพียงพออยู่แล้ว

3.) การบริหารสภาพคล่อง เอสเอ็มอีแบงก์มีแผนปรับโครงสร้างทางการเงิน ให้มีสัดส่วนเงินกู้ระยะยาวเพิ่มขึ้นโดยขอกู้ระยะยาวที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการเชื่อมั่นว่าเมื่อปรับปรุงระบบงานด้านสินเชื่อและแก้ไข NPLs สถานะของเอสเอ็มอีแบงก์จะมั่นคงขึ้นโดยลำดับ ธนาคารอาจจะขอออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ระยะยาว เนื่องจากตอบโจทย์ทั้งในเรื่องการบริหารแหล่งเงินทุน มีเงินมาปล่อยสินเชื่อ อีกทั้งยังสามารถขอนับเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 2 ทั้งนี้ เพื่อมิให้มีภาระเงินเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลังมากเกินไป

"ในแต่ละปีกระทรวงการคลัง ก็จะมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มทุน จำนวน 2,000 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขที่ว่า เอสเอ็มอีแบงก์ต้องมีการบริหารและจัดการดีด้วย อย่างไรก็ตาม ทางเอสเอ็มอีแบงก์อยากใช้วิธีอื่นที่ไม่ต้องใช้เงินภาษีของประชาชน การขอออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิระยะยาวจะเป็นแนวทางที่ตอบโจทย์ได้ดี ทว่า ยังไม่แน่ใจว่าจะออกจำนวนเท่าไร แต่โดยปกติจะเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ซึ่งเรามีเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ 3,300 ล้านบาท คงจะออกได้ไม่มากกว่าเงินกองทุนชั้นที่ 1 ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของธนาคาร" นางสาลินี ระบุ

4.) การสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงานและจัดโครงสร้างกำลังคนให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ ปัจจุบัน เอสเอ็มอีแบงก์มีพนักงาน 1,637 คน ธนาคารพยายามจะจัดให้มีพนักงานด้านหารายได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อเอสเอ็มอีแบงก์ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังให้ดำเนินการขายหนี้ด้อยคุณภาพออกไปบ้างแล้ว จะสามารถโอนย้ายพนักงานซึ่งทำหน้าที่ด้านแก้ไขหนี้ให้กลับมาปล่อยสินเชื่อได้ ซึ่งจะเตรียมความพร้อมโดยจัดฝึกอบรมด้านการให้สินเชื่อในภาคปฏิบัติให้พนักงานเหล่านี้

นอกจากนั้น จะพยายามปรับปรุงกระบวนการทำงาน และระบบข้อมูลทุกระบบให้เชื่อมโยงกัน ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ จะต้องจัดให้มีการสื่อสารภายในองค์กรอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ ระหว่างสำนักงานใหญ่กับเขต ภาค และสาขาทั้ง 95 แห่ง เพื่อรักษาขวัญกำลังใจ และให้สาขาได้เข้าถึงและเข้าใจนโยบายและแนวทางการทำธุรกิจของธนาคารอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจนถึงขั้นนำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งจะนำมาสู่ความสำเร็จร่วมกันของเอสเอ็มอีแบงก์

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น