xs
xsm
sm
md
lg

จุดพลุยกระดับ “ผ้าไหมไทย” ขึ้นแท่น “โอต์ กูตูร์” ผงาดแคตวอล์กโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กสอ.จับมือสถาบันสิ่งทอฯ ดำเนินโครงการ “โมเดิร์น ไทย ซิลค์” ยกระดับผ้าไหมสู่สากลทั้งด้านคุณภาพและดีไซน์ ตั้งเป้าหมายปี 60 ขึ้นแท่นเป็นสินค้า “โอต์ กูตูร์” ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับแบรนด์ดัง ผงาดบนแคตวอล์กระดับโลก

นางศิริรัตน์ จิตต์เสรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมไหมเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีโอกาสทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะมีคุณค่าทางภูมิปัญญาสืบทอดมายาวนาน ทาง กสอ.จึงเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมผ้าไหมให้เติบโตและมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ โดยร่วมมือกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอดำเนินโครงการการพัฒนาผ้าไหมไทยร่วมสมัยสู่สากล หรือโครงการ “โมเดิร์น ไทย ซิลค์” (Modern Thai Silk) ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย โดยมีแนวทางการดำเนินงาน คือ

1. สร้างมูลค่าเพิ่มของไหมไทยด้วยอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ผ่านการวิจัยอัตลักษณ์ไหมไทย
2. จัดทำคู่มือแนวโน้มการออกแบบไหมไทยร่วมสมัย
3. กำหนดเทรนด์การผลิตผ้าไหมไทยให้สอดคล้องกับเทรนด์โลก

นางศิริรัตน์กล่าวต่อว่า โครงการ “โมเดิร์น ไทย ซิลค์” เป็นโครงการกิจกรรมศึกษาวิจัยและพัฒนาต้นแบบไหมไทยร่วมสมัย โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ และสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ/ผู้ผลิตให้เข้าใจถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ โดยตั้งเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ รูปแบบ คุณภาพ ผ้าไหมไทย สู่การเป็นผ้าที่ใช้สวมใส่ได้ทุกโอกาส
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
ด้านนางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า สถาบันฯ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมไหมไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2557 สถาบันฯ ได้ร่วมมือกับ กสอ. ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างการรับรู้และความนิยมของผ้าไหมในระดับสากล ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันฯ ได้นำผ้าไหมไทย ต้นแบบกว่า 50 ชิ้นไปร่วมโชว์ ณ มหานครปารีส ในงาน “Premiere Vision 2014” ซึ่งเป็นงานแสดงสิ่งทอและผ้าผืนระดับโลก ที่รวบรวมดีไซเนอร์จากแบรนด์แฟชั่นชั้นนำระดับโลกจำนวนมาก เช่น กุชชี่ หลุยส์ วิตตอง ชาแนล เวอซาเช่ และแอร์เมส เป็นต้น

สำหรับการเข้าร่วมงานดังกล่าวจะเป็นใบเบิกทางอันดีให้กับผ้าไหมไทย ซึ่งคาดว่าในคอลเลกชัน 2559-2560 ตั้งเป้าว่าผ้าไหมไทยจะได้เป็นสินค้า “โอต์ กูตูร์” หรือสินค้าระดับสูงที่แบรนด์เนมทั่วโลกเลือกใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิต

ทั้งนี้ อุตสาหกรรรมไหมไทยมีมูลค่าการส่งออก 18.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2012 ลดลงร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับปี 2011 โดยส่วนใหญ่เป็นผ้าผืนซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 57 ของการส่งออกผลิตภัณฑ์จากไหมทั้งหมด ซึ่งประเทศที่ส่งออกไปมากที่สุดคือสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ด้านการนำเข้าในปี 2012 มีมูลค่า 20.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2011 ร้อยละ 23 ส่วนใหญ่นำเข้าเครื่องนุ่งห่ม รองลงมาคือเส้นด้ายสัดส่วนร้อยละ 41 และ 31 ตามลำดับ ของการนำเข้าผลิตภัณฑ์ไหมทั้งหมด โดยนำเข้าจากประเทศจีนมากที่สุด

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น