บสย.จับมือ 19 สถาบันการเงินช่วยเอสเอ็มอีรายจิ๋ว และโอทอปเข้าถึงแหล่งเงินทุน วงเงินรวม 15,000 ลบ. แจงฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันปีแรก เชื่อก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบกว่า 40,000 ลบ.
นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย.ได้ร่วมกับ 19 สถาบันการเงินทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ดำเนินโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี-โอทอป เข้าถึงแหล่งทุน โดยแบ่งเป็น 2 โครงการ คือ 1. สำหรับกลุ่มโอทอปและวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท โดยเงื่อนไขต้องเป็นกลุ่มที่มีหนังสือรับรองการลงทะเบียนผู้ประกอบการโอทอป หรือเป็นวิสาหกิจชุมชนที่มีหนังสือแสดงการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนและเครือข่าย (ทวช.002) ที่ยังไม่หมดอายุ โดย บสย.ให้การค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 7 ปี ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันปีแรก ปีถัดไปคิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันร้อยละ 1.5 บาทต่อปีของวงเงินค้ำประกัน โดยมีวงเงินค้ำประกันของทั้งโครงการ 10,000 ล้านบาท สิ้นสุดโครงการวันที่ 31 ธันวาคม 2558 หรือ จนกว่าวงเงินค้ำประกันครบ แล้วแต่เงื่อนไขใดถึงก่อนอีกด้วย
และ 2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อยอีก 5,000 ล้านบาท (Micro Entrepreneurs) วงเงินค้ำประกันรวม 5,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลจ่ายเงินค่าธรรมเนียมค้ำประกันปีแรก และ บสย.ค้ำประกันวงเงินไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย (รวมทุกสถาบันการเงิน) โดยยังได้ขยายการค้ำประกันวงเงินกู้แต่ละรายถึง 10 ปี
นายวัลลภกล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก หรือไมโครเอสเอ็มอี ด้วยการค้ำประกันสินเชื่อให้ไม่เกิน 100,000-200,000 บาทต่อราย โดยสร้างความมั่นใจให้แก่ธนาคารพาณิชย์มั่นใจในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น บสย.จึงเพิ่มอัตราการเคลมประกัน จากร้อยละ 18 เป็นร้อยละ 50 ของวงเงินสินเชื่อ และจ่ายชดเชยให้แก่สินค้าโอทอปร้อยละ 25 ขณะที่แบงก์พาณิชย์จะใช้รูปแบบการปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีในรูปแบบบัตรเครดิตเพื่อการค้า แต่จะไม่ให้นำบัตรเครดิตไปใช้ในการรีไฟแนนซ์ ทั้งนี้ จากวงเงินค้ำประกัน 15,000 ล้านบาทดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการปล่อยสินเชื่อออกสู่ระบบ 40,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ สถาบันการเงินที่ร่วมโครงการ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารยูโอบี ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ธนาคารธนชาต ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ธนาคารแห่งประเทศจีน ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *