xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.ชงโรดแมป 3 ระยะพัฒนาเอสเอ็มอี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส.อ.ท. ชง คสช. เห็นชอบ 3 แผนพัฒนาเอสเอ็มอี ดันสัดส่วนรายได้เป็น 50% ของจีดีพี แจงเบื้องต้นกำหนดการส่งเสริมเอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมขยายหน้าที่ สสว.ช่วยเหลือ ผปก.ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ระยะกลางหนุนได้ประโยชน์จากเปิดอาเซียน และระยะยาวพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการหนุน

นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานกรรมการบริหารสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) กล่าวว่า ส.อ.ท. โดยสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต หรือ SMI ได้จัดทำแผนการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เพื่อเตรียมจะนำเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยกำหนดกรอบทิศทางในการส่งเสริมและพัฒนาเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว มีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนรายได้ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้กลับมาเป็น 42% ของสัดส่วนรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จากปัจจุบันอยู่ที่ 37 % และให้เป็น 50 % ภายในปี พ.ศ. 2573

สำหรับแผนการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ระยะสั้น ภายใน 6 เดือน - 1 ปี สนับสนุนให้เอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่ง คสช. ดำเนินการแล้ว รวมทั้งกำหนดเป้าหมายชัดเจน อีกทั้ง ปรับย้ายสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มาอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเพิ่มบทบาทการทำงานให้มากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันอยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งจัดสรรงบประมาณการส่งเสริมเอสเอ็มอีให้แยกออกจากระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการให้ชัดเจน และแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเอสเอ็มอี เช่น เพิ่มบทบาทบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) การลดดอกเบี้ยเงินกู้แก่เอสเอ็มอี

ส่วนระยะกลาง ภายใน 2-3 ปี การจัดทำดัชนีวัดผลงานเอสเอ็มอี (เคพีไอ) โดยให้ทุกหน่วยงาน ขับเคลื่อนภารกิจด้านเอสเอ็มอี เพื่อวัดผลอย่างชัดเจน มีการรายงานผลรายไตรมาสต่อคณะกรรมการส่งเสริมเอสเอ็มอี ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยจัดตั้งศูนย์บริการอาเซียนเอสเอ็มอีในไทย เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการดำเนินธุรกิจ และการจับคู่ทางธุรกิจในภูมิภาค และให้ไทยเป็นศูนย์กลางจัดอาเซียน เอสเอ็มอี เอ็กโปร์ ทุกปี เพื่อให้ไทยเป็นแหล่งข้อมูลสินค้าเอสเอ็มอีของภูมิภาคอาเซียนต่อไป รวมทั้งส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การศึกษา การบริการด้านวิจัยและพัฒนาและออกแบบสินค้าของอาเซียน

อย่างไรก็ตามในระยะยาว 4-5 ปี ให้เร่งส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในการส่งเสริมเอสเอ็มอีที่ยังหายไป เช่น ระบบการจัดอันดับความน่าเชื่อของเอสเอ็มอี , เพิ่มช่องทางการเรียนรู้จากมหาวิทยาลัยของเอสเอ็มอี, แอปพริเคชั่น เอสเอ็มอี , เอสเอ็มอี คอมเพล็กซ์ , นิคมเอสเอ็มอี และกองทุนส่งเสริมการขยายธุรกิจเอสเอ็มอีในต่างประเทศ เป็นต้น

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น