กสอ.ลุยพัฒนาเซรามิกไทย เตรียมดันลำปางเป็นศูนย์กลางเซรามิกแห่งอาเซียน เหตุเป็นแหล่งค้าขายใหญ่สุดในประเทศ พร้อมได้เปรียบด้านโลจิสติก ระดมแผนพัฒนา 4 ด้านกระตุ้นเศรษฐกิจลำปาง
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิกไทย โดยวางเป้าหมายให้จังหวัดลำปางเป็นศูนย์กลางเซรามิกแห่งอาเซียน เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เซรามิกแหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศ ทั้งยังเป็นแหล่งวัตถุดิบประเภทดินขาว และดินดำเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมเซรามิก รวมทั้งยังเป็นแหล่งหัตถอุตสาหกรรมคุณภาพดีเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย
“ลำปางถือเป็นแหล่งที่มีภูมิศาสตร์เหมาะสมทั้งในเรื่องเป็นแหล่งวัตถุดิบ และด้านการขนส่งที่สามารถเชื่อมโยงกับภาคเหนือ ภาคกลาง และอินโดจีนได้ โดยในปี 2557 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และจังหวัดลำปาง จัร่วมกันผลักดันการพัฒนาเมืองลำปางให้เป็นแหล่งเซรามิกอาเซียนอย่างครบวงจร พร้อมมุ่งยกระดับให้จังหวัดลำปางเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ โดยวางนโยบายให้เป็นนครแห่งการส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นแหล่งผลิตเซรามิกและสินค้าหัตถอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ ควบคู่กับการส่งเสริมการท่องเที่ยว”
สำหรับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก 4 ด้าน ได้แก่ 1.การส่งเสริมนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และการออกแบบ มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่ง รวมถึง รักษาระดับคุณภาพของสินค้าให้เป็นที่ยอมรับทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ มีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และการศึกษาความต้องการของผู้บริโภคแต่ละตลาด ซึ่งหากผู้ประกอบการมีความเข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของแต่ละตลาดแล้ว ก็จะช่วยให้สินค้ามีศักยภาพการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น
2.การแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ โดยการสร้างเครือข่ายการตลาด ซึ่งปัจจุบันมีการก่อตั้งกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเซรามิก เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มช่องทางตลาดใหม่ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และลดการพึ่งพิง ตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักดั้งเดิม เพราะเมื่อประเทศกลุ่มนี้ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ มักจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยด้วยเช่นกัน โดยตลาดที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มเติบโต ได้แก่ จีน อินเดีย และอาเซียน
3.การพัฒนาตราสินค้า ผู้ประกอบการอุตสหากรรมเซรามิกไทย ส่วนใหญ่เป็นลักษณะ OEM ทำให้การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์มีน้อย หากไทยสามารถพัฒนาตราสินค้าเป็นของตนเองได้จะสามารถสร้างความแตกต่างให้กับตัวผลิตภัณฑ์และคู่แข่ง และหากสามารถพัฒนาตราสินค้าให้แข็งแกร่งขึ้น ก็จะเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และสามารถสร้างอำนาจการต่อรองทางด้านราคาได้อีกด้วย และ 4.การพัฒนาบุคลากร เพื่อเตรียมรับมือเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยพัฒนาแรงงานให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค สามารถสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างการออกแบบและการผลิต มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เท่าทันต่อความต้องการของตลาด ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *