xs
xsm
sm
md
lg

กสอ. รุกมาตรการช่วยเหลือ SMEs หวังฟื้นผลกระทบการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รุกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเร่งด่วน หลังได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองควบคู่กับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกล่าวว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ทำให้อุตสาหกรรมของไทยมีการชะลอการขยายตัว ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติเริ่มย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทยและมีเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่าไทยเช่น จีน อินเดีย และบางประเทศในกลุ่มอาเซียน

ทั้งนี้เศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ภาพรวมผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อนถึงร้อยละ 0.6 ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยลดลงร้อยละ 61.8 ต่ำสุดในรอบ 9 ไตรมาส เป็นผลให้ประชาชนระมัดระวังในจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น จึงทำให้การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคของครัวเรือนลดลงร้อยละ 3 ส่งผลต่อเนื่องถึงการจ้างงาน โดยในช่วงเดือนมีนาคม2557 อัตราการจ้างงานในภาคการผลิต มีจำนวน 6.59 ล้านคน ลดลงร้อยละ 2.08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดร.อรรชกา กล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกระแสว่าได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้ประเทศติด 1 ใน 10 ของประเทศ และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงไปถึงการจ้างงาน การลงทุน การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการส่งออก ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ,อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

ทั้งนี้ กสอ. มีการดำเนินงาน 3 กลุ่มโครงการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาวะวิกฤต ได้แก่ 1.โครงการระยะเร่งด่วน ดำเนินการได้ทันที คือ โครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย และโครงการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการและธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่ AEC โดยจะเชื่อมโยงธุรกิจและสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมการผลิตระหว่างไทยและประเทศเป้าหมาย จำนวน 10 ประเทศ 2. โครงการระยะสั้น ดำเนินการได้ ภายใน 1-3 เดือน ได้แก่ โครงการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการผลิตเพื่อการลดต้นทุน และโครงการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่ SMEsในอุตสาหกรรมสนับสนุน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านความรู้ ทักษะ และการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานประกอบการ

3.โครงการระยะยาว ดำเนินการได้ ภายใน 6-12 เดือน โครงการเพิ่มผลิตภาพอย่างมีนวัตกรรม เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพทางด้านประสิทธิภาพการผลิต และระบบเทคโนโลยีเชิงนวัตกรรมการผลิตในระดับสากล โดยทั่วไปหลักสูตรมีระยะเวลาการดำเนินการ 9 เดือน ครอบคลุมในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพ และการพัฒนาการวางแผนและจัดการเทคโนโลยีการผลิตอย่างมีนวัตกรรม

สำหรับโครงการที่คาดว่าน่าจะเหมาะสมในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาวะวิกฤตซึ่งเห็นผลระยะยาวอย่างเห็นได้ชัด คือ โครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม หรือคลัสเตอร์ ซึ่งเป็นการสร้างความร่วมมือ บนพื้นฐานของการแข่งขัน โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพโดยรวมของคลัสเตอร์นั้น ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งในระบบการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและตอบสนองความต้องการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผลที่ได้จากการดำเนินโครงการในปี 2555 สมาชิกกลุ่มคลัสเตอร์ได้รับการยกระดับการดำเนินธุรกิจจนสามารถเพิ่มยอดขายได้กว่า 5,000 ล้านบาท และมียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบ 5,000 ล้านบาท จากสมาชิกกลุ่มจำนวน 58 คลัสเตอร์ / 1,160 วิสาหกิจ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ การดำเนินงานคลัสเตอร์ประสบผลสำเร็จและจำเป็นต้องมี คือ คลัสเตอร์ที่รวมตัวกันนั้นควรมีศักยภาพที่พร้อมในการพัฒนาและสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ผู้นำกลุ่ม ผู้ประสานงาน และที่ปรึกษาคลัสเตอร์ ต้องมีความเข้มแข็งจึงจะมีบทบาทในการพัฒนาคลัสเตอร์ได้ และที่สำคัญคือต้องมีความไว้วางใจและเชื่อมั่นระหว่างสมาชิกในกลุ่ม

ด้านนายประเสริฐ สัมฤทธิวณิชชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญ ทูลส์ เซ็นเตอร์ จำกัด บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายสำคัญของประเทศ กล่าวว่า ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์เข้าสู่สภาวะหดตัวมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะกำลังซื้อภายในประเทศที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งค่อนข้างรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ หากมองในภาพรวมของอุตสาหกรรม ยอดขายรถยนต์ลดลงกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงส่งผลต่อเนื่องสู่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีการปรับตัวลดลงเช่นกัน ส่งผลกระทบต่อ SMEs โดยตรงผู้ประกอบการ SMEs รายหลายมีมาตรการเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้าแล้ว เช่น การลดต้นทุนการผลิต ลงทุนด้านเครื่องจักรเพื่อดึงงานบางส่วนไปผลิตเอง ไม่ต้องจ้างSupplierปรับตัวเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและบริหารจัดการ โดยการสร้างเครือข่ายพันธมิตรอุตสาหกรรม ซึ่งจุดเด่นของโครงการนี้คือสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อการเข้าร่วมโครงการสิ้นสุดลง แต่ยังสามารถการนำองค์ความรู้ที่ได้มาใช้ในการพัฒนาธุรกิจได้ต่อเนื่อง
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น