กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเผยแผนการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs หลังเผชิญวิกฤตทางการเมือง โดยเสนอแผนเร่งด่วนผ่านโครงการต่างๆ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ชี้ภาพรวมผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ GDP ไตรมาสแรกปี 2557 ลดลงต่ำสุดในรอบ 9 ไตรมาส โดยอัตราการผลิตเฉลี่ยลดลงร้อยละ 61.8 หรือร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 3 กลุ่มหลักที่ได้รับผลกระทบ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอ
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา ส่งผลต่อผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานที่ส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ จึงได้มีแผนเร่งรัดการบูรณาการแผนฟื้นฟูธุรกิจขึ้น
ทั้งนี้ ทางกรมฯ ได้เตรียมมาตรการการช่วยเหลือไว้ 3 ระยะ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ผ่านโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย, โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (MDICP), โครงการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่ SMEs, โครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม หรือคลัสเตอร์เป็นการสร้างความร่วมมือบนพื้นฐานของการแข่งขัน โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างสมาชิกในกลุ่มคลัสเตอร์ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในระบบการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน อันจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและตอบสนองความต้องการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ และโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่น ฯลฯ
สำหรับภาพรวมผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 57 ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อนถึงร้อยละ 0.6 ส่งผลให้อัตราการผลิตเฉลี่ยลดลงประมาณร้อยละ 61.8 ต่ำสุดในรอบ 9 ไตรมาส ทำให้แนวโน้มที่ผู้ประกอบการหลายรายจะปรับลดพนักงานลงเพื่อรักษาเสถียรภาพของการประกอบการ ซึ่งส่งผลให้เกิดผู้ว่างงานในไตรมาสแรกนี้เฉลี่ย 344,430 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกระแสว่าได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งอุตสาหกรรมกลุ่มดังกล่าว กสอ.ได้จัดทีมคณะทำงานดูแลให้คำปรึกษา ตลอดจนเข้าไปส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาอย่างใกล้ชิด ดังตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรม คือ โครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม หรือคลัสเตอร์ ที่เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันมีการรวมกลุ่มแล้ว 58 คลัสเตอร์ และเฉพาะในปี 2556 สมาชิกกลุ่มคลัสเตอร์สามารถเพิ่มยอดขายได้มากขึ้นกว่าปีก่อนถึงกว่า 5,000 ล้านบาท และมียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบ 5,000 ล้านบาท
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการพัฒนาธุรกิจของ กสอ. สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0- 2202-4546 หรือเข้าไปที่ http://www.dip.go.th
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *