xs
xsm
sm
md
lg

ม.หอการค้าฯ ชี้ดัชนีความสามารถเอสเอ็มอีไทย Q1 หล่นเหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความสามารถการแข่งขันของเอสเอ็มอีประจำ Q1/2557 ลดลงทุกด้าน จากปัญหายากเข้าถึงแหล่งทุน และต้นทุนสูงขึ้น คาด Q2 ปรับเพิ่มหลังสถานการณ์คลี่คลาย

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอีไทย ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2557 จากการสำรวจข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างทุกภาคของประเทศจำนวน 1,450 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 16-31 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเริ่มสำรวจก่อนที่จะมีการทำรัฐประหาร พบว่าไตรมาสที่ 1 ธุรกิจ SMEs ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง กำไรลดลงอย่างมาก เนื่องจากมีความลำบากในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเงินทุนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยธุรกิจในภาคเหนือประสบวิกฤตหนักมากที่สุด รองลงมาคือภาคกลาง ในธุรกิจภาคการท่องเที่ยว และภาคการค้า ประสบปัญหามากที่สุด

สรุปได้ว่าดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SMEs ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 56.0 ปรับตัวลดลง 3.6 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่แนวโน้มธุรกิจ SMEs ไตรมาสที่ 2 ปี 2557 มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ 60.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.8 จุด

ด้านดัชนีสุขภาพของธุรกิจเอสเอ็มอีโดยรวมอยู่ที่ 57.2 ลดลง 4.4 จุด จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจโดยรวมเท่ากับ 54.2 ลดลง 4 จุด ซึ่งปัญหามาจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่แย่ลงตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าในไตรมาส 2 จะปรับตัวดีขึ้น

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า เอสเอ็มอีประสบปัญหาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว (2556) จากนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมีต้นทุนสูงขึ้น ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนเบื้องต้น ต้องพยายามพาให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่วนระยะกลางและระยะยาวต้องช่วยแก้ปัญหาการจัดการและการตลาด

สำหรับช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2557 เศรษฐกิจของวิสาหกิจขนาดกลางจะยังขยายตัวที่ร้อยละ 1 ส่วนวิสาหกิจขนาดย่อมซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าวิสาหกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางอาจจะติดลบ จึงเป็นกลุ่มที่ภาครัฐควรเข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างประมวลข้อมูลจากทุกด้าน แต่เชื่อว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจจะยังอยู่ในกรอบเดิมที่ร้อยละ 2.0-3.0 แต่มีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้น

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น