โดย อาจารย์ สุเนาว์ ฤทธิ์นุช
เห็ดฟางเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ปัจจุบันได้รับความนิยมในกลุ่มของผู้บริโภค และเกษตรกรเอง เพราะราคาที่เพิ่มสูงขึ้น วันนี้ ใครที่ต้องการหารายได้เสริมจากการเพาะเห็ดฟางขาย เรามีเรื่องราว และเทคนิคการเพาะเห็ดฟางแบบง่าย และไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มากมาฝาก
เทคนิคการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า
นั่นคือ เทคนิคการเพาะเห็ดฟางในตะกร้าพลาสติก การเพาะเห็ดฟางในตะกร้านี้เป็นวิธีการเพาะเห็ดฟางที่ประยุกต์ขึ้นมา แต่เดิมนั้นการเพาะเห็ดฟางแบบทั่วไปใช้พื้นที่ใน แนวราบ มาตรฐานของการเพาะเห็ดฟางในพื้นที่ราบ 1 ตารางเมตร ได้ผลผลิตได้ถึง 3 กิโลกรัม ถือว่ายอดเยี่ยมการเพาะเห็ดฟางแบบใน ตะกร้าจะใช้พื้นที่ในแนวสูงกับแนวราบของพื้นที่ตะกร้าที่เป็นทรงกระบอก
โดยสามารถใช้ตะกร้าซักผ้า ตะกร้าใส่ผลไม้ ตะกร้าใส่ปลา ของชาวประมง คือไม่สูงมากประมาณ 1 ฟุต รอบ ๆ ตะกร้าจะมีตามีช่องด้านบนเห็ดก็สามารถออกได้ และสามารถนำตะกร้าซ้อนกันได้หลายชั้น เป็นลักษณะของการเพิ่มพื้นที่การออกดอกของดอกเห็ด ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีทำเหมาะกับทุกรูปแบบ
จุดคุ้มทุน เมื่อเทียบกับการเพาะแบบอื่นๆ
จุดคุ้มทุน ทั้งนี้ จากการเก็บตัวเลขในกระบวนวิจัยบนพื้นที่ 1 ตารางเมตร สามารถวางได้ถึง 9 ตะกร้า โดยวางชั้นเดียวเมื่อ 1 ตารางเมตร วางได้ถึง 9 ตะกร้า จะได้เห็ดไม่ต่ำกว่า 1 กิโลกรัม ต่อ 1 ตะกร้า เพราะฉะนั้น 1 ตารางเมตร ได้อย่างน้อย 9 กิโลกรัม เปรียบเทียบ
แบบกอง คือ 3 กิโลกรัม แบบตะกร้าได้มากกว่า แนวทางในการพัฒนาตรงนี้ค่อนข้างจะเป็นที่สนใจของนักวิชาการ และผู้สนใจที่จะเพาะเห็ดอยู่มาก
วัสดุที่ใช้ในการเพาะเห็ด
วัสดุที่เพาะเห็ดฟางนั่นมีอยู่เป็นจำนวนมาก เรียกว่า หันไปทางไหนก็หยิบจับมาใช้เป็นวัสดุในการเพาะได้ ยกตัวอย่างเช่น ฟางข้าว ถั่ว หรือเปลือกถั่วได้ทุกชนิด เปลือกมันสำปะหลัง ต้นข้าวโพดแห้ง (นำมาสับ และนำไปแช่น้ำก็สามารถนำมาเพาะได้เช่นกัน ) ผักตบชวา ต้นกล้วยหั่นตากแห้ง ทะลายปาล์ม หรือผลปาล์ม ขี้เลื่อยไม้เนื้ออ่อนทุกชนิด ทั้งนี้ ยังรวมไปถึง กระดาษก็สามารถนำมาเพาะเห็ดฟางได้ นอกจากนี้ ทีผ่านมานิยมนำ กระสอบป่านเก่า ๆ ผ่านการแช่น้ำมาแล้ว มาใช้เป็นวัสดุได้เช่นกัน เรียกได้ว่า อะไรที่มาจากธรรมชาติ และเก็บความชื้นได้ดี ก็สามารถนำมาเป็นวัสดุในการเพาะเห็ดฟางได้ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ในแต่ละพื้นที่ก็อาจจะมีวัสดุที่แตกต่างกันไป แต่ที่ได้รับความนิยมในภาคใต้ ก็จะเป็นพวก ขุยมะพร้าว โดยขุยมะพร้าว 2 ส่วน นำมาผสมกับขี้วัว 1 ส่วน ซึ่งข้อดีของการใช้ขุยมะพร้าวกับขี้วัว ก็คือ เราจะได้ความชื้นและมีอาหารจากขี้วัว มาช่วยบำรุงให้เห็ดนั้นเติบโตได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา เกษตรกร มักจะนิยมใช้ฟางข้าว เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า เห็ดฟาง บรรพบุรุษของเราจะใช้ฟางข้าวในการเพาะเห็ด หรือ เห็ดจะขึ้นเองตามกองฟาง แต่ปัจจุบันที่เราไม่พบเห็นเห็ดตามกองฟาง เหมือนในอดีต เพราะ ฟางข้าวมีสารเคมีตกค้าง จากการที่เกษตรกรใช้สารพิษ ในการฆ่าแมลง และใช้ปุ๋ยเคมีในการบำรุงข้าว เป็นสาเหตุที่เราไม่แนะนำให้ใช้ฟางข้าว เพราะนอกจากเห็ดจะไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควรเพราะสารเคมีแล้ว สารพิษที่ตกค้างในฟางข้าวยังซึมผ่านเส้นใยของเห็ด เมื่อเราบริโภคเห็ดเข้าไปก็รับสารพิษเข้าไปด้วย
ขั้นตอนการเพาะเห็ดฟาง
ขั้นตอนในการเพาะเห็ดฟางในตะกร้าไม่ยุ่งยาก ถ้าใครเคยเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยแล้ว ทุกอย่างเหมือนกัน แค่ยกมาใส่ตะกร้า
โดยชั้นที่หนึ่งเป็นวัสดุเพาะ คือ พวกฟางข้าว เปลือกถั่วอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจะผสมผสานกันก็ได้ ชั้นที่สองเป็นอาหารเสริม อาจจะใส่นุ่น ผักตบชวาสดแล้วก็โรยด้วยเชื้อเห็ดฟาง เชื้อเห็ดฟางอาจจะคลุกเคล้าด้วยแป้งสาลี แป้งข้าวเหนียวหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าคลุกเคล้าจะทำให้เส้นใยเดินได้เร็วหลังจากนั้นก็ทำเหมือนชั้นที่หนึ่ง ใช้วัสดุเพาะ ส่วนชั้นที่สาม จะแตกต่างจากชั้นที่หนึ่ง
ชั้นที่สองก็คือ ด้านบนจะโรยอาหารเสริมทั้งหมดเต็มพื้นที่ของผิวตะกร้า แล้วโรยเชื้อเห็ดทั้งหมดคลุมด้วยวัสดุเล็กน้อยกดให้แน่น ๆ ให้ต่ำกว่าปากตะกร้าประมาณ 1 ช่องตา รดน้ำประมาณ2 ลิตร รดทั้งด้านบนตะกร้าและด้านข้างตะกร้า ยกใส่กระโจมเล็ก ๆ หรือใส่ถุงพลาสติกขนาดใหญ่ (ขอเป็นถุงใส เพราะถ้าเป็นถุงดำเห็ดจะไม่ออกดอก
ทั้งนี้ สามารถใช้ตะกร้าคลุมและเอาพลาสติกคลุม ก็ได้ แต่ถ้าทำหลายตะกร้าอาจจะเอาสุ่มไก่ครอบพลาสติกคลุมในที่ร่มและชื้น ประมาณวันที่ 4ก็เปิดสำรวจดูว่ามีเส้นใยมากไหม ถ้ามากก็ตัดเส้นใยสัก 5 - 10 นาที แล้วคลุมไว้อย่างเดียว ตอนเปิดถ้าตะกร้าแห้งก็รดน้ำ
นิดหน่อยประมาณวันที่ 7 - 8 ก็เก็บผลผลิตได้ โดยผลผลิตจะออกมาตามตารอบ ๆ ตะกร้า เทคนิคการโรยเชื้อเห็ดชั้นที่ 1 - 2 คือโรยให้ชิดขอบตะกร้า ตรงกลางไม่ต้องโรย ชั้นที่ 3 โรยให้เต็ม
ค่าใช้จ่ายในการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า มีดังนี้
1. ตะกร้าพลาสติกขนาดสูง 11 นิ้ว ปากตะกร้ากว้างประมาณ 18 นิ้ว มีตาห่างกันประมาณ 1 นิ้ว ตะกร้าใบหนึ่งใช้ได้หลายครั้ง อาจใช้ได้นานเกิน 20 ครั้งขึ้นไป ราคาใบละประมาณ 30 บาท
2. ชั้นโครงเหล็ก ใช้เหล็กแป๊ปสี่เหลี่ยมขนาด 6 หุน มาทำเป็นโครงเหล็กให้ได้ขนาดกว้างประมาณ 1 เมตร สูง 2 เมตร
ยาง 2 เมตร ซึ่งโครงเหล็กมี 4 ชั้น สามารถวางตะกร้าเพาะได้ 40 ใบ ราคาโครงเหล็กประมาณ 705 บาท
3. แผ่นพลาสติกสำหรับคลุมชั้นโครงเหล็ก ใช้แผ่นพลาสติกใสขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 6 เมตร ราคาประมาณ 60 บาท
4. โรงเรือน ซึ่งโรงเรือนเป็นไม้ลักษณะของโรงเรือน คือนำไม้มาประกอบกันซึ่งสร้างให้มีขนาดใหญ่ จนสามารถครอบชั้น
โครงเหล็กได้ ราคาโรงเรือนทั้งหมดประมาณ 900 - 1,000 บาท
5. วัสดุเพาะ อาจใช้ฟางหรือก้อนขี้เลื่อยที่ผ่านการเพาะเห็ดถุงมาแล้ว ใช้ 9 ก้อนต่อ 1 ตะกร้า ราคาเฉลี่ยประมาณก้อนละ50 สตางค์ รวมเป็นเงินต่อตะกร้าประมาณ 4 - 5 บาท
6.อาหารเสริม เราสามารถใช้ผักตบชวาหั่นประมาณ 1 ลิตรต่อตะกร้าคิดเป็นเงินรวมตะกร้าละไม่ถึง 1 บาท
7. ค่าเชื้อเห็ดฟางแบบอีแปะถุงละประมาณ 2 บาท
8. ค่าจ้างแรงงานเพาะคิดเป็นเงินตะกร้าละ 3 บาท
9. ค่าจ้างดูแล คิดเป็นเงินต่อตะกร้าละประมาณ 5 บาท
10. ค่าจ้างแรงงาน เพื่อการเก็บเกี่ยวและปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวต่อผลผลิตกิโลกรัมละประมาณ 5 บาท
รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 2 พันบาทต้น ๆ แต่หากลบค่าใช้จ่ายเรื่องโรงเรือนออกไป ราคาเห็ดฟางต่อหนึ่งตะกร้าจะลง ทุนเพียงประมาณไม่ถึง 50 บาท เท่านั้น
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *