"พาณิชย์" เผยยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่เดือน ก.พ. ลดจากเดือน ม.ค. กว่า 9% หรือ 493 ราย และลดจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 882 รายหรือ 15% ชี้ปัจจัยสำคัญจากการเมืองไม่สงบ กระทบความเชื่อมั่นต่อการใช้จ่ายและลงทุน
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศจำนวน 4,854 รายลดลง 463 รายคิดเป็น 9%เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2557ซึ่งมีจำนวน 5,317 รายและลดลง882รายคิดเป็น 15% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2556ซึ่งมีจำนวน 5,736 ราย สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกทั่วประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 2557มีจำนวน 644ราย
มูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 มีจำนวนทั้งสิ้น 18,532 ล้านบาท ลดลงจำนวน11,108 ล้านบาท คิดเป็น 37% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2557 ซึ่งมีจำนวน 29,640 ล้านบาท และลดลงจำนวน 17,233 ล้านบาท คิดเป็น 48% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งมีจำนวน 35,585 ล้านบาท
ประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย จำนวน 408 รายอสังหาริมทรัพย์เพื่อพักอาศัย จำนวน 208 รายขายส่งเครื่องจักร จำนวน 130 ราย ก่อสร้างอาคารไม่ใช่ที่พักอาศัย จำนวน 125 ราย และภัตตาคารร้านอาหาร จำนวน 119 รายตามลำดับ
ปัจจุบัน ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 มีห้างหุ้นส่วนบริษัทจำกัดดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศจำนวน 557,998 รายมีทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 10.76 ล้านล้านบาทแบ่งเป็นบริษัทจำกัด 386,662ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,045 รายและห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 173,291 ราย
นายณัฐวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่ปรับลดลง เช่น ดัชนีอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจโดยการชุมนุมทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาเริ่มส่งผลกระทบต่อการจดทะเบียน
สำหรับสถิติการจดทะเบียนในเดือนมกราคม -กุมภาพันธ์ 2557 มีจำนวนรวม 10,171 ราย ลดลง 2,867 ราย คิดเป็น 35% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2556 ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2557 จะอยู่ในช่วง 3%-4% ซึ่งสูงกว่า 2.9% ของปี 2556 อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ การส่งออกที่คาดว่าจะดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐในส่วนที่ได้มีการผูกพันไว้แล้วการมีรัฐบาลชุดใหม่ที่จะขับเคลื่อนนโยบายและโครงการต่างๆ การลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัว และสถานการณ์ทาง การเมือง ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และการจดทะเบียนธุรกิจโดยรวม
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *