เมื่อความรักในต้นไม้ และไม่ปลื้มกับปุ๋ยที่เกิดจากสารเคมีมากนัก ตัดสินใจเลี้ยงไส้เดือนหวังนำมูลมาทำเป็นปุ๋ย ทั้งที่ไม่มีความรู้มาก่อน เพียงเห็นจากทีวีก็สนใจ ส่งผลให้ปัจจุบันกลายเป็นเจ้าของ “i do farm” ผลิตปุ๋ยไส้เดือน โดยไม่ได้คิดถึงกำไรมาเป็นอันดับแรก เพียงต้องการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้สนใจมีรายได้เพิ่ม
ด้วยความที่คุณแม่เป็นคนรักต้นไม้ มักเปลี่ยนดินจากกระถางอยู่บ่อยครั้งเพื่อเพิ่มปุ๋ยให้ต้นไม้งอกงาม แต่ส่วนใหญ่จะเป็นปุ๋ยเคมี ทำให้ลูกสาวอย่าง “รุ่งรัตน์ รุ่งเมืองทอง” คิดหาแนวทางลดสารเคมีบริเวณบ้าน ด้วยการนำความรู้ที่ได้จากสารคดีต่างประเทศเรื่องการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อนำมูลมาทำปุ๋ยทดลองทำเองที่บ้านทั้งที่ไม่มีความรู้พื้นฐานเลย
ย้อนไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว หญิงสาวที่บังเอิญสนใจทำปุ๋ยมูลไส้เดือนทั้งที่ไม่มีความรู้ด้านนี้มาก่อน ศึกษาหาข้อมูลด้วยตนเอง รวมถึงโทร.สอบถามข้อมูลจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อทดลองทำจริงที่จังหวัดลพบุรีบ้านเกิด เริ่มจากซื้อบ่อส้วมทรงกลมมา 1 ใบ ซื้อไส้เดือนมาจำนวนหนึ่งจากแม่โจ้ เป็นพันธุ์ที่ชอบอยู่ในที่ชื้นแฉะ กินพืชผักที่เน่าเสีย ทำให้ได้ปุ๋ยไส้เดือนชนิดน้ำ
แต่ช่วงแรกหนทางทำปุ๋ยมูลไส้เดือนถือว่าไม่ง่ายเลยสำหรับมือใหม่อย่างคุณรุ่งรัตน์ เพราะยังไม่เข้าใจพฤติกรรมไส้เดือนดีพอ ทำให้ไส้เดือนหนีจากบ่อส้วม โดยเฉพาะหน้าฝนจะหนีขึ้นกำแพงและหายไป เธอถึงกับถอดใจ แต่ยังโชคดีที่แม้ไส้เดือนจะหนีไปแต่ยังทิ้งไข่ไว้ให้เพื่อเพาะพันธุ์ต่อ กระทั่งระยะเวลาผ่านไปเธอศึกษาข้อมูลเรื่องนี้มากขึ้น กลับพบว่าสาเหตุที่ไส้เดือนหนีนั้นเกิดจากสภาพแวดล้อม และอาหารไม่เอื้ออำนวย พื้นที่ชื้นแฉะเกินไป อากาศไม่ร้อน และอย่าให้มีสิ่งใดมารบกวน
เมื่อจัดสรรที่อยู่ให้ไส้เดือนให้กินอยู่อย่างสบายแล้ว ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและทดลองใช้กับต้นไม้ที่บ้านก็ผลิดอกออกใบสวยงาม ตัดสินใจเพิ่มจำนวนบ่อส้วมตามจำนวนไส้เดือนที่เพาะพันธุ์อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันมูลไส้เดือนที่ได้ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เธอตัดสินใจบรรจุขวดขายในราคาไม่แพง หวังเป็นทางเลือกให้ผู้ที่สนใจใช้ปุ๋ยจากธรรมชาติ พร้อมนำไปฝากขายให้ร้านขายต้นไม้ ก็เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าที่ลองซื้อไปใช้ครั้งแรกต่างติดใจในประสิทธิภาพ
ด้วยพันธุ์ไส้เดือนที่เลี้ยงเป็นพันธุ์ที่ชอบที่ชื้นแฉะทำให้ปุ๋ยของ i do farm เป็นแบบชนิดน้ำ บางครั้งติดขัดในเรื่องน้ำหนักที่มากในการจัดส่งให้ลูกค้าตามต่างจังหวัด เธอตัดสินใจเลี้ยงไส้เดือนอีกพันธุ์ คือ เอเอฟ (AF) เพื่อให้ได้ปุ๋ยชนิดผง โดยสั่งซื้อไส้เดือนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในราคากิโลกรัมละ 1,500 บาท ส่วนพันธุ์จากแม่โจ้ อยู่ที่ 500 บาท/กก.
หลายคนอาจมองว่า i do farm เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้แก่เจ้าของธุรกิจจำนวนมหาศาล แต่เธอยังตั้งมั่นปณิธานเดิมตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ ที่พร้อมและยินดีที่จะถ่ายทอดวิชาการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อให้ได้มูลไว้จำหน่าย หรือสร้างอาชีพให้ผู้สนใจอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งผู้ที่ไม่เคยสนใจเธอก็ยังนำไอเดียธุรกิจไปนำเสนอจนสร้างรายได้ให้หลายคนมาแล้ว เพราะเธอมองว่าธุรกิจนี้ทำไม่ยากเลย เพียงดูแลไส้เดือนแค่สัปดาห์ละ 2 ครั้ง นำเศษอาหารที่รับประทานเหลือในแต่ละวัน และพืชผัก โยนลงไปในบ่อ รดน้ำให้ชุ่ม แต่หากเป็นหน้าฝนให้นำสบู่กรดหรือน้ำยาล้างจานมาทาให้รอบปากบ่อเพื่อป้องกันไส้เดือนหนี
“การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อเอามูลมาทำปุ๋ยชีวภาพถือเป็นธุรกิจที่ลงทุนเริ่มต้นอยู่แค่หลักพันเท่านั้น และไม่น่ารังเกียจอย่างที่คิด กลับกันไส้เดือนมีประโยชน์ต่อโลกมาก เพราะช่วยลดปริมาณขยะ ไม่ส่งกลิ่นเหม็นอย่างที่หลายคนเข้าใจ ซึ่งในอนาคตเราจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตปุ๋ยชนิดผงให้มากขึ้นเพื่อความสะดวกในการจัดส่ง ขณะที่ราคาขายปลีกปุ๋ยผงอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาท และปุ๋ยชนิดน้ำสนนราคาที่ 60 บาท/ลิตร”
แม้ปุ๋ยชีวภาพจากมูลไส้เดือนยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมของนักปลูกต้นไม้สักเท่าไร แต่หากได้ลองสักครั้งรับรองจะติดใจ เหมาะกับไม้ดอก ไม้ประดับ และพืชผักสวนครัว เพราะปุ๋ยชนิดนี้มีธาตุฟอสฟอรัสสูง และในต่างประเทศก็เป็นที่นิยมอย่างมาก
ใครสนใจเลี้ยงปุ๋ยไส้เดือนสามารถติดต่อได้ที่คุณรุ่งรัตน์โดยตรง โทร. 08-7030-9666 ซึ่งเธอพร้อมให้ข้อมูลเพื่อนำไปต่อยอดทำเป็นธุรกิจต้นทุนต่ำได้
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *