xs
xsm
sm
md
lg

แนะแยกขยะก่อนทิ้ง ช่วยลดบูดเน่า - ก๊าซมีเทน ต้นเหตุโลกร้อน

เผยแพร่:

ชี้ไม่แยก "ขยะอินทรีย์" ทำบ่อขยะบูดเน่า ส่งกลิ่นเหม็นระยะไกลสุดท้าย ก่อก๊าซมีเทน ต้นเหตุภาวะโลกร้อน แนะครัวเรือนแยกก่อนทิ้ง
นายคมสัน หุตตาแพทย์ มูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา กล่าวในเวทีชี้นำ "ชุมชนปลอดขยะ ท้องถิ่นต้องทำได้" ในงานเวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ครั้งที่ 5 จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาขยะล้นเมือง ซึ่งหนทางในการแก้ไขนั้น แน่นอนว่าทุกคนทุกบ้านต้องช่วยกันไม่ให้เกิดขยะ แต่หากเกิดขยะขึ้นแล้วจะทำอย่างไร จึงมีข้อเสนอยุทธศาสตร์การจัดการขยะที่ช่วยลดโลกร้อน มี 5 ประเด็นคือ 1.ขยะที่เกิดขึ้นต้องไม่ไปทำให้คนอื่นเดือดร้อน โดยเฉพาะเทศบาลที่จะมารับขยะไปกำจัด ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เรียกได้ว่าเขาเป็นอาสาที่จะต้องเผชิญกับพิษภัยจากขยะและกลิ่นเหม็น ที่ไม่รู้ว่าจะเกิดผลร้ายต่อสุขภาพเมื่อไร เพราะฉะนั้นต้นทางคือทุกคนและทุกบ้านจะต้องแยกขยะ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อบุคคลอื่น 2.นำขยะที่คัดแยกนั้นมาใช้ใหม่ หากสามารถยังใช้ได้ 3.นำมารีไซเคิล 4.นำขยะมาทำเป็นพลังงาน เช่น หมักก๊าซชีวภาพ และ 5.นำไปฝังกลบปลายทาง

ด้าน นางนุชนาถ สุขาวดี ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลเมืองแกลง อ.แกลง จ.ระยอง กล่าวว่า ส่วนใหญ่การกำจัดขยะของเทศบาลก็คือการเอาขยะลงบ่อฝังกลบ ซึ่งหากไม่มีการแยกขยะโดยเฉพาะขยะอินทรีย์ที่เป็นพวกเศษไม้ พืชผัก ผลไม้ เศษอาหาร สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการเน่าบูด จนบ่อฝังกลบขยะมีกลิ่นเหม็นกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปในบ่อขยะต่างๆ ทั่วประเทศที่มักมีกลิ่นเหม็นเน่ารุนแรง และสุดท้ายเกิดก๊าซมีเทนลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนในที่สุด ซึ่งหนทางที่สามารถแก้ไขได้คือการคัดแยกขยะมาตั้งแต่ต้นทาง อย่างเทศบาลเมืองแกลงมีการเดินหน้ารณรงค์ในเรื่องนี้ จนสามารถเป็นศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะให้แก่พื้นที่อื่นได้ และบ่อฝังกลบขยะของเทศบาลเมืองแกลงก็ได้รับการการันตีว่ากลิ่นเหม็นเน่าน้อยกว่าที่อื่นมาก

นางนุชนาถ กล่าวอีกว่า บ่อฝังกลบขยะเทศบาลเมืองแกลงขณะนี้ใกล้เต็มแล้ว ซึ่งเกิดจากการที่เมื่อก่อนไม่มีการคัดแยกขยะ และต้องรับำจัดขยะให้แก่เทศบาลอื่นอีก 11 เทศบาล ทำให้สุดท้ายบ่อก็เต็ม จึงต้องมาหาหนทางในกรแก้ไข นั่นก็คือการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านชุมชนจะคัดแยกขยะอินทรีย์มาให้ โดยขยะอินทรีย์นั้นเทศบาลจะนำไปใช้ประโยชน์ในหลายเรื่องคือ นำไปเลี้ยงเป็ด เลี้ยงหมู เลี้ยงแพะ ซึ่งขยะอินทรีย์เหล่านี้จะมำให้ไข่เป็ดแดงเป็นพิเศษ และขี้แพะที่ออกมาสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยหมักต่อได้ นอกจากนี้ การกำจัดขยะอินทรีย์ยังทำโดยการใช้ไส้เดือนที่เลี้ยงไว้ในบ่อ โดยนำขยะอนิทรีย์มาเทไว้ด้านบน ไส้เดือนก็จคลนขึ้นมากินและย่อยสลายจนกลายเป็นปุ๋ยไส้เดือนที่มีฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมสูง ซึ่งปุ๋ยนี้จะได้ราคาดีกว่าปุ๋ยธรรมดา เพราะช่วยให้ไม้ดอกออกดอกสีสวยสด

"ส่วนกลุ่มที่เป็นกิ่งไม้ใบไม้ ซึ่งเมื่อก่อนมักพบปัญหาวางกองไว้ข้างบ้าน ข้างโรงเรียน ข้างวัด ไม่รู้จักการจัดเก็บนั้น บ้างก็นำมาเผาทำให้เกิดควัน ก่อความรำคาญ รวมไปถึงเสี่ยงอันตรายจากไฟไหม้นั้น เทศบาลก็มีเครื่องบดกิ่งไม้ ที่รองรับการบดกิ่งไม้ขนาดใหญ่เท่าข้อมือได้นั้น ก็จะได้วัตถุดิบนำไปทำปุ๋ยเช่นกัน โดยนำมาหมักรวมกับผักที่ทิ้งมาจากในตลาดและจุลินทรีย์ และนำไปใส่ตามต้นไม้บนเกาะกลางถนน ส่วนขยะครัวเรือนที่ไม่ได้แยก รถขยะก็จะไปเก็บตามมาปกติ จากนั้นจะนำมาขึ้นสายพานเพื่อแยกขยะอินทรีย์ออก แยกกล่องยูเอชที บางส่วนนำไปรีไซเคิลได้ ที่เหลือก็จะนำไปฝังกลบในขั้นตอนสุดท้าย ก็จะช่วยลดปริมาณขยะ และลดค่าใช้จ่ายในการฝังกลบ ซึ่งการดำเนินงานเช่นนี้ช่วยให้เทศบาลเมืองแกลงสามารถลดขยะลงได้มาก ลดการเกิดก๊าซมีเทนที่ให้โลกร้อน ซึ่งชัดเจนว่าการแยกขยะสามารถช่วยได้" นางนุชนาถ กล่าวและว่า นอกจากนี้ ยังดำเนินการในส่วนของธนาคารขยะโรงเรียน ซึ่งจะเป็นรายได้ให้แก่นักเรียนที่นำขยะมาแลก และธนาคารขยะชุมชนที่จะทำเดือนละ 1 ครั้ง ให้คนในชุมชนนำขยะมาแลกเพื่อสะสมแต้มแล้วรับของรางวัล เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น