ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ธุรกิจผลิตเทียนหอมได้รับความนิยมอย่างยิ่งในภาคเหนือ โดยเฉพาะที่ จ.เชียงใหม่ มีออเดอร์จากต่างชาติหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย จึงเกิดกลุ่มผู้ผลิตจำนวนมากทั้งรายเล็กและรายใหญ่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยปริมาณที่เกินความต้องการของตลาด รวมถึงการเข้าบุกของสินค้าจากจีน ทำให้ผู้ผลิตเทียนหอมของไทยทยอยหายไปจากวงการจำนวนมาก
แต่สำหรับเทียนหอมแฟนซี แบรนด์ Full Candle สามารถฝ่าวิกฤตและยืนหยัดมาได้จนถึงปัจจุบัน ด้วยหัวใจสำคัญคือ พัฒนาดีไซน์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลงานเทียนดีไซน์เป็น “ซูชิ” ช่วยเปิดตลาดใหม่ เน้นเป็นของขวัญของชำร่วยที่สร้างความประทับใจแก่ผู้รับได้เป็นอย่างดี
เจ้าของธุรกิจ ได้แก่ “เสกสรรค์ ขัติกุล” เอสเอ็มอีจากเมืองเชียงใหม่ ที่ในอดีตยึดอาชีพผลิตและออกแบบบรรจุภัณฑ์ จนเมื่อประมาณ พ.ศ. 2540 มีลูกค้าแนะนำให้ทดลองทำเทียนขายควบคู่กับบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากในช่วงนั้นเทียนหอมได้รับความนิยมจากลูกค้าต่างชาติอย่างมาก
เจ้าของธุรกิจเล่าต่อว่า หาความรู้จากหนังสือ และนิตยสารในต่างประเทศ สำหรับงานชิ้นแรกเป็นเทียนรูปดอกลีลาวดี และเทียนแท่ง เน้นสีสันสดใส เมื่อสินค้าไปถึงมือลูกค้าก็เป็นที่ถูกใจ เกิดการบอกต่อ มีออเดอร์เข้ามาต่อเนื่อง จากงานเฉพาะกิจกลายเป็นธุรกิจหลักไปในที่สุด
ผลงานเทียนหอมของแบรนด์ Full Candle จุดเด่นประการสำคัญอยู่ที่ดีไซน์ โดยเฉพาะผลงานในปี พ.ศ. 2545 ที่ทำให้แบรนด์นี้เป็นที่รู้จักและจดจำได้อย่างกว้างขวาง คือ เทียนรูปผลไม้ต่างๆ เช่น ส้ม สตรอว์เบอร์รี แอปเปิล ชมพู เชอร์รี มังคุด ฯลฯ มีทั้งขนาดเท่าของจริง และขนาดเล็ก เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ลูกค้า ตามด้วยงานรูปช้าง ไม้ซุง ฯลฯ บ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ และประเทศไทย เหมาะจะซื้อฝากกลับไปเป็นของขวัญ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในช่วง 7-8 ปีให้หลังที่ผ่านมา ใน จ.เชียงใหม่เกิดกลุ่มผู้ผลิตเทียนหอนจำนวนมาก นำมาสู่ปัญหาสินค้าล้นตลาด ต้องขายตัดราคากันเอง รวมถึงยังมีสินค้าเทียนหอมราคาต่ำจากประเทศจีนเข้ามาแย่งชิงออเดอร์ลูกค้าจากต่างประเทศไปอีก
สถานการณ์ดังกล่าวสะเทือนถึงผู้ผลิตเทียนหอมภาคเหนือหลายรายต้องล้มหายตายจาก ขณะที่ Full Candle ก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน ทว่า ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผ่านวิกฤตครั้งนั้นมาได้ คือ ไม่หยุดพัฒนาสร้างดีไซน์ใหม่ๆ โดยเฉพาะการนำเทียนมาสร้างสรรค์เป็น “ซูชิ” อาหารประจำชาติของชาวญี่ปุ่น ที่สวยงามเหมือนจริงอย่างยิ่ง บวกเข้ากับบรรจุภัณฑ์เหมาะสมคล้ายเบนโต๊ะ หรือกล่องอาหารของชาวอาทิตย์อุทัย นอกจากนั้น ขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ จากเน้นรับออเดอร์ต่างชาติเท่านั้น หันมาขายปลีกเป็นสินค้าของขวัญของชำร่วยเพื่อลูกค้าในประเทศควบคู่ไปด้วย
“ไอเดียเทียนซูชิมันเกิดจากเมื่อประมาณเกือบ 10 ปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งมาจ้างให้ผมทดลองทำเทียนเป็นซูชิเพื่อจะนำไปฝากเพื่อนที่บ้านเกิดของเขา ซึ่งผมก็ออกแบบทำให้เขาได้สำเร็จ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่คิดจะทำออกขายเองเพราะขั้นตอนมันยาก จนเมื่อประมาณปี 2549 ธุรกิจเทียนหอมมีการลอกเลียนแบบกันมาก อีกทั้งราคาก็ถูกกด ทำให้ผมต้องพยายามคิดหาดีไซน์ใหม่ๆ เลยคิดถึงที่เราเคยทำเทียนซูชิ ซึ่งยังไม่มีใครทำมาก่อน” เจ้าของไอเดียเผย และเล่าต่อว่า
“หลังจากทดลองออกขายตามงานแสดงสินค้าก็ได้รับความสนใจอย่างมาก ผมเลยเสริมจุดเด่นโดยใส่ในบรรจุภัณฑ์คล้ายกล่องอาหารของชาวญี่ปุ่น ชวนให้น่าซื้อเก็บ หรือซื้อไปฝากในเทศกาลต่างๆ จนกลายเป็นสินค้าที่ขายดีที่สุด มันทำให้ผมได้ตลาดใหม่ ไม่ต้องพึ่งเฉพาะออเดอร์ส่งออกเท่านั้น” เสกสรรค์กล่าว
ด้านเทคนิคการทำเทียนให้เหมือนซูชิจริงๆ นั้น เขาเผยให้ฟังว่า อาศัยจินตนาการ บวกกับประสบการณ์ที่สะสมมายาวนาน เน้นผสมสีให้เหมือนวัตถุดิบต่างๆ จากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง ไข่ม้วน ปูอัด ฯลฯ ส่วนขั้นตอนการทำผสมผสานกันทั้งใช้วิธีปั้นมือ และเทหล่อในแม่พิมพ์ โดยจะทำแยกแต่ละชิ้นส่วนแล้วนำมาประกอบกันเป็นซูชิ รวมถึงมีการนำวัสดุธรรมชาติจริงๆ มาเสริมเพิ่มความสมจริงสมจัง เช่น โรยด้วยงาดำ เป็นต้น ทั้งหมดเพื่อให้ออกมาเหมือนจริงมากที่สุด
ไม่ใช่เพียงแค่รูปทรงภายนอกจะเหมือนจริงเท่านั้น อีกสิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้คือ เมื่อทำเสร็จแล้วต้องเป็นเทียนที่จุดติดไฟได้จริง และละลายได้หมดทั้งชิ้นด้วย ซึ่งทั้งหมดนั้น เขาบอกว่า เป็นเทคนิคเฉพาะตัวเกิดจากประสบการณ์ในการทำเทียนหอมมามากกว่า 15 ปี
สำหรับเทียนซูชิมีด้วยกันประมาณ 10 แบบ ขายในราคาชิ้นละ 25 บาท หรือจัดเป็นชุด แบบกล่องเล็ก 150 บาท และแบบกล่องใหญ่ 220 บาท สัดส่วนตลาดในปัจจุบัน รับทำออเดอร์ต่างประเทศ ประมาณ 30% และขายในประเทศ 70% มีช่องทางขายที่ถนนคนเดินใน จ.เชียงใหม่ และมีผู้รับไปขายต่อตามแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ เช่น พัทยา ภูเก็ต เป็นต้น รวมถึงออกงานแสดงสินค้าต่างๆ
นอกจากเทียนซูชิที่เป็นพระเอกแล้ว แบรนด์ Full Candle ยังมีเทียนแฟนซีอีกหลากหลายกว่า 10 รูปแบบ เช่น ดอกไม้ ช้าง ท่อนไม้ เชิงเทียน ผลไม้ ฯลฯ ราคาแตกต่างกันไป เริ่มต้นที่หลักสิบถึงหลักร้อยบาทต่อชิ้น โดยปัจจุบันมีช่างประจำ 7 คน ส่วนช่วงที่มีออเดอร์เข้ามาจำนวนมากอาศัยกระจายงานให้เครือข่าย โดยเฉพาะต่อเดือนมีกำลังผลิตประมาณหลักหมื่นชิ้น
“ความยากของการทำธุรกิจเทียนหอมในปัจจุบันคือ เราต้องมีดีไซน์เฉพาะตัว บวกกับฝีมือ และคุณภาพ ในขณะเดียวกันราคาก็ต้องไม่สูงเกินไป ให้เหมาะที่ลูกค้าจะซื้อไปเป็นของฝากของขวัญได้ง่ายๆ ซึ่งทุกวันนี้หากจะเน้นทำแบบเหมือนคนอื่นผมเชื่อว่าจะอยู่ยากมากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นจำเป็นที่ต้องมีแบบใหม่เรื่อยๆ ไม่หยุดอยู่กับที่” เสกสรรค์ระบุ
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *