xs
xsm
sm
md
lg

‘วิทยาลัยชุมชนสระแก้ว’ ต้นแบบดันภูมิปัญญาชาวบ้าน ปั้นอาชีพลุย AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จ.สระแก้วถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญในการค้าชายแดน โดยเฉพาะที่ตลาดโรงเกลือ แต่ละวันมีชาวกัมพูชาหลายพันคนเข้ามาค้าขาย รวมทั้งมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและนานาชาติจำนวนหลายหมื่นคนเดินทางมาจับจ่าย ก่อให้เกิดเงินสะพัดกว่า 60,000-70,000 ล้านบาทต่อปี
ตลาดโรงเกลือ แหล่งค้าชายแดนสำคัญ
และเมื่อถึงปี พ.ศ. 2558 เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี แน่นอนว่าการค้าชายแดนจะบูมมากขึ้นไปอีก ข้อดีเป็นโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็เป็นความเสี่ยงหากคนท้องถิ่นปรับตัวไม่ทันอาจเสียเปรียบทางการค้า และสภาพสังคมท้องถิ่นอาจถูกกลืนหายไป

ประเด็นดังกล่าวนำมาสู่การดำเนินงานของ “วิทยาลัยชุมชนสระแก้ว” ในการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือทุนท้องถิ่นที่ชาวสระแก้วมีอยู่แล้วมาพัฒนาเป็นหลักสูตรการศึกษาให้คนพื้นที่เข้ามาเรียนรู้ได้ง่ายๆ จบแล้วนำไปประกอบอาชีพได้ โดยเป็นอาชีพที่เก็บเกี่ยวประโยชน์จากเออีซีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย และสอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม
ศีระพจต์ จริยาวุฒิกุล ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสระแก้ว
ศีระพจต์ จริยาวุฒิกุล ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสระแก้ว เผยว่า จ.สระแก้วเป็น 1 ใน 10 จังหวัดนำร่องที่ได้รับคัดเลือกให้จัดตั้งเป็นวิทยาลัยชุมชนโดยกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี พ.ศ. 2547 แบ่งการศึกษาเป็น 2 ระดับ ได้แก่ หลักสูตรอนุปริญญา และหลักสูตรระยะสั้น

จุดเด่นในการเรียนของวิทยาลัยชุมชนสระแก้ว คือ ใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางในการออกแบบหลักสูตร ดังนั้น ทุกวิชาจึงเกิดจากความต้องการของคนท้องถิ่นจริงๆ ส่วนใหญ่เป็นอาชีพจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ชาวบ้านทำอยู่แล้วนำมาปรับปรุง รวมถึงเป็นวิชาที่ท้องถิ่นมีความพร้อมเรื่องภูมิประเทศ และทรัพยากรธรรมชาติ หรือมีโอกาสดีในอนาคตหลังเปิดเออีซี เน้นให้เรียนจบแล้วออกไปประกอบอาชีพได้จริงๆ เช่น การค้าชายแดน บริหารลอจิสติกส์ เกษตรอินทรีย์ การเลี้ยงแมงสะดิ้ง การนวดแผนไทย การเพาะเห็ด มัคคุเทศก์ ภาษาอังกฤษ ภาษากัมพูชา ฯลฯ

“การออกแบบหลักสูตรต่างๆ เกิดจากความต้องการของคนในชุมชนอย่างแท้จริง โดยเราเน้นเอาความรู้ไปหาผู้เรียน โดยผู้สอนก็ใช้ทั้งครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน นักธุรกิจท้องถิ่น หรือผู้มีความชำนาญในสาขานั้นๆ มาเป็นผู้สอน เพื่อให้ผู้เรียนนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้จริง” ผอ.วิทยาลัยชุมชนสระแก้วกล่าว และอธิบายต่อว่า
หลักสูตรต่างๆ เกิดจากความต้องการของคนท้องถิ่น
ด้านการรับผู้เรียนเปิดกว้างอย่างยิ่ง ตั้งแต่เด็กวัยรุ่นจนถึงผู้สูงอายุ หลักสูตรอนุปริญญา สำหรับผู้เรียนจบ ม.6 ปัจจุบันมีอยู่ 9 หลักสูตร ส่วนอบรมอาชีพระยะสั้น สำหรับทุกคนที่สนใจเข้าเรียนรู้ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา และที่สำคัญคือ ค่าเรียนถูกมาก แค่หน่วยกิตละ 25 บาท หรือ 700 บาทต่อเทอม หรือการอบรมอาชีพระยะสั้น เพียงชั่วโมงละ 5 บาท หลักสูตรหนึ่งใช้เวลาประมาณ 40-60 ชั่วโมง หรือแค่ประมาณ 250-300 บาทต่อหลักสูตรเท่านั้น

“เจตนาหลักของวิทยาลัยชุมชนต้องการให้เป็นบริการการศึกษาที่เปิดกว้างเพื่อให้ชาวชุมชนเข้ามาเรียนรู้วิชาได้ง่ายๆ ดังนั้น ค่าเรียนจึงถูกมาก แต่เหตุที่เราไม่เปิดสอนฟรีเลยเพราะเราต้องการให้ผู้มาเรียนเห็นคุณค่าด้วย แม้จะเป็นเพียงเงินเล็กน้อยก็ตาม แต่ก็ทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่าการเรียนมีค่ามากยิ่งขึ้น” ศีระพจต์กล่าวเสริม

อีกบทบาทหนึ่งของวิทยาลัยชุมชนสระแก้ว คือ การยกระดับชุมชน จ.สระแก้ว ให้พร้อมเข้าสู่การเปิดเออีซีด้วย นอกจากจะเตรียมหลักสูตรต่างๆ แล้ว ยังร่วมกับภาคเอกชน อย่างบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่เข้ามาสนับสนุนงบประมาณ 3 แสนบาท และมอบคอมพิวเตอร์พกพาจำนวน 20 เครื่อง เพื่อให้วิทยาลัยแห่งนี้เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ ค้นคว้าและศึกษาข้อมูลอาเซียนทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้เด็กนักเรียน นักศึกษา และชาวบ้านทั่วไปเข้ามาใช้บริการได้ฟรีๆ ภายใต้ “โครงการเตรียมความพร้อมให้แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไปแถบชายแดน ในการพัฒนาความรู้และทักษะสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”
เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้วิชา
ด้านมงคลนิมิต เอื้อเชิดกุล กรรมการและผู้จัดการกิจกรรมองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท เอสโซ่ฯ กล่าวเสริมว่า ทางบริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนหลังเปิดเออีซี โดยเหตุที่เลือกสนับสนุนวิทยาลัยชุมชนแห่งนี้ เพราะสำรวจพบว่าพร้อมทั้งปัจจัยพื้นฐานด้านสถานที่ และบุคลากร อีกทั้งยังเป็นพื้นที่สำคัญในการค้าชายแดน ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้เป็นการนำร่อง และจะสานต่อไปยังวิทยาลัยชุมชนแห่งอื่นๆ ต่อไป
ศูนย์เรียนรู้อาเซียนใน “โครงการเตรียมความพร้อมให้แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไปแถบชายแดน ในการพัฒนาความรู้และทักษะสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ย้อนกลับมาที่ ผอ.วิทยาลัยชุมชนสระแก้ว เผยว่า ปัจจุบันทางวิทยาลัยฯ มีนักศึกษากำลังเรียนอยู่ประมาณ 440 คน จากศักยภาพที่รองรับได้สูงสุด 860 คน ดังนั้น พยายามให้บุคลากรของสถาบันลงพื้นที่ไปแนะนำ และกระตุ้นให้ชาวชุมชนสนใจเข้ามาเรียนรู้อาชีพต่างๆ เพื่อจะมีทักษะความสามารถสูงขึ้น พร้อมเข้าสู่การเปิดเออีซี เพราะเชื่อว่าหากชาวชุมชนมีอาชีพที่เหมาะสมและยั่งยืนแล้ว ผลสุดท้ายจะสร้างให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งตามไปด้วย
คอมพิวเตอร์พกพาได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน
สนใจอยากได้ความรู้อาชีพ และเสริมทักษะพร้อมเข้าสู่เออีซี ติดต่อโทร. 0-3742-5487

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น