สสว. เผยผลการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคชาวมาเลเซีย แจงประชากรมีกำลังซื้อสูง เลือกใช้สินค้าคุณภาพ ระบุโอกาสสำหรับเอสเอ็มอีไทยมากที่สุดเป็นกลุ่มอาหาร ตามด้วยอัญมณี เตือนสินค้ากลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไม่เหมาะ เหตุพฤติกรรมถูกกำหนดด้วยวิถีชาวมุสลิมอย่างเคร่งครัด และตลาดมีผู้ถือครองเต็มอยู่แล้ว
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศอาเซียน+6 โดยเลือกศึกษา 3 อุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการ SMEs ไทย มีความพร้อมเข้าสู่ตลาด ASEAN+6 ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ
ทั้งนี้ สำหรับประเทศมาเลเซีย นับเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับต้นๆ ของไทยในภูมิภาคอาเซียน เห็นได้จากตัวเลขการค้าในช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) 2556 มีมูลค่าการค้าในส่วนของ SMEs รวม 92,124.66 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพของประเทศมาเลเซียแล้ว พบว่า มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ผลจากการมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง และด้วยจำนวนประชากรที่มีเพียง 28 ล้านคน ส่งผลให้ทุกคนมีงานทำ มีกำลังซื้อที่แท้จริง (Purchasing Power) ถึง 40,250 บาทต่อคนต่อเดือน จึงสะท้อนได้ว่าตลาดผู้บริโภคของมาเลเซียเป็นตลาดของผู้ซื้อ สินค้าที่มีคุณภาพจึงเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคชาวมาเลเซียให้ความสำคัญในลำดับแรก
สำหรับการศึกษาครั้งนี้ สสว. เลือกศึกษาในพื้นที่ที่สินค้าไทยจะมีโอกาสทางธุรกิจสูง ได้แก่ กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยพฤติกรรมการบริโภคของชาวมาเลเซียมีดังนี้
- อุตสาหกรรมอาหาร ในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนในมาเลเซียจะเลือกบริโภคอาหารจีนเป็นลำดับแรก และให้ความสนใจบริโภคอาหารชาติอื่นๆ เช่น ชาติตะวันตก ญี่ปุ่น เกาหลี และไทย ที่มีให้บริการตามห้างสรรพสินค้า ส่วนชาวมุสลิม จะมีความเคร่งครัดในหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม จึงให้ความสำคัญกับอาหารที่ผ่านกระบวนการฮาลาล เป็นหลัก
- อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ชาวจีนในกัวลาลัมเปอร์นิยมแต่งกายด้วยชุดสากลแบบตะวันตก เน้นสินค้าคุณภาพดี มีสีสันไม่ฉูดฉาด สีที่นิยมคือ สีขาว ดำ น้ำเงิน พาสเทล เช่น ชมพูอ่อน ฟ้าอ่อน และนิยมสินค้าแบรนด์เนมของประเทศตะวันตก เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี ขณะที่ชาวมุสลิม จะนำหลักข้อบังคับการแต่งกายของศาสนาอิสลามที่เรียกว่า “ออรัต” (Aurat) มาปฏิบัติค่อนข้างเคร่งครัด เช่น ห้ามนำรูปสัตว์ใหญ่มาตกแต่งเสื้อผ้า เครื่องประดับ ผู้ชายห้ามสวมเสื้อผ้าผู้หญิง สตรีต้องแต่งกายด้วยด้วยอาภรณ์ที่ปกปิดตามหลักคำสอนของศาสนา เน้นสีเข้มขรึม เช่น เทา ดำ น้ำตาล แดงเข้ม ฯลฯ ไม่นิยมเสื้อผ้าอาภรณ์สีเหลือง เพราะถือเป็นสีของกษัตริย์
- อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ชาวจีนในมาเลเซีย สตรีนิยมอัญมณีประเภทเพชรบนตัวเรือนสีขาว แพลตินัมหรือทองคำขาว บุรุษนิยมนาฬิกาแบรนด์เนมที่มีชื่อเสียง และเครื่องประดับประเภทแหวนทองคำประดับพลอยสี (แดงทับทิม) หรือเพชร และบางกลุ่มนิยมพระเครื่องของไทย ขณะที่เครื่องประดับแฟชั่นของเกาหลี และญี่ปุ่น กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากกลุ่มวัยรุ่น
ทั้งนี้ โอกาสของสินค้าไทยในประเทศมาเลเซีย จากการศึกษา พบว่า อุตสาหกรรมของไทยที่มีโอกาสมากที่สุดในมาเลเซีย คือ อุตสาหกรรมอาหาร เห็นได้จากการที่เครื่องปรุงรส “ต้มยำกุ้ง” หรือน้ำพริกเผารสต้มยำ รวมทั้งข้าวหอมมะลิ และสาหร่ายทอดกรอบ ได้รับความนิยมอย่างสูงจากทั้งผู้บริโภคชาวจีนและชาวมุสลิม โดยกลยุทธ์นำในการเข้าสู่ตลาดยังเป็นการเปิดร้านอาหารไทย ทั้งในรูปแบบร้านอาหารซีฟู้ดต้มยำกุ้ง ร้านอาหารครัวไทย ร้านอาหารครัวชาววัง และรูปแบบที่กำลังได้รับความนิยม คือ ร้านอาหารจานด่วน ร้านอาหารส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงร้านขนมหวานนานาชนิด ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยมีการแนะนำอาหารไทยใหม่ๆ ต่อผู้บริโภค ก็จะเป็นช่องทางพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสในอนาคตอีกด้วย ส่วนรองลงมาคือ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ที่ได้รับการตอบรับว่าสินค้าไทยมีคุณภาพในราคาที่ยอมรับได้
ขณะที่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อาจยังไม่เหมาะต่อการลงทุนของ SMEs ไทย เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคที่ถูกกำหนดด้วยวิถีชาวมุสลิมที่เคร่งครัด ขณะที่ชาวจีนในมาเลเซียซึ่งจะเป็นผู้บริโภคสำคัญ ก็ยังมีตลาดไม่ใหญ่นัก และถูกครองตลาดด้วยผู้ประกอบการท้องถิ่น รวมทั้งสินค้าจากชาติตะวันตกและญี่ปุ่น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เรียกว่า ฟาสต์แฟชั่น ที่นำโดยแบรด์ Zara Uniqlo และ H&M แต่หากผู้ประกอบการต้องการเข้าตลาดมาเลเซีย ควรมุ่งเน้นเสื้อผ้าแฟชั่นมุสลิม ที่สำคัญต้องทำตลาดเชิงรุกด้วยการประกอบการข้ามอุตสาหกรรม (Cross Industry) ร่วมกับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และแฟชั่น เช่น รองเท้า กระเป๋า เป็นต้น
อย่างไรก็ดี จากพื้นฐานคำสอนของศาสนาอิสลามที่มุ่งเน้นเรื่องความซื่อสัตย์ ผู้ประกอบการทุกกลุ่มอุตสาหกรรมจึงต้องให้ความสำคัญต่อคุณภาพที่สม่ำเสมอและเหมาะสมกับราคา เป็นปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจ
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *