xs
xsm
sm
md
lg

สสว.ชี้ SME เครื่องประดับอัญมณีเหมาะลุยตลาดอิเหนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สสว.เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคตลาดอินโดนีเซีย ชี้มีจุดเด่นประชากรจำนวนมาก ทว่ากำลังซื้อยังค่อนข้างต่ำ แนะเจาะกลุ่มลูกค้าชนชั้นกลางระดับสูงและชั้นสูงนำเสนอสินค้า Niche Market พร้อมระบุสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมีโอกาสสูงสุด

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยแผนรายการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศอาเซียน+6 ระบุว่า ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะระดับเอสเอ็มอีมีการค้าขายกับอินโดนีเซียในช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) 2556 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 94,670.39 ล้านบาท

ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับ 4 ของสินค้า SMEs ไทย เนื่องจากอินโดนีเซียมีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก มีจำนวนถึง 248,645,008 คน ส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 86.1 นับถือศาสนาอิสลาม ขณะที่ชาวจีนแม้ไม่ได้เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ แต่ก็คุมอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยการเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่กำลังซื้อของคนส่วนใหญ่มีประมาณ 9,000 บาทต่อคนต่อเดือน ต่ำกว่าไทยที่มีกำลังซื้อ 21,500 บาทต่อคนต่อเดือน สะท้อนได้ว่าสินค้าชิ้นหนึ่งของไทยอาจไม่สามารถจำหน่ายในระดับราคาที่เท่ากันสำหรับการบริโภคของคนส่วนใหญ่ในอินโดนีเซียได้

ทั้งนี้ จากการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึกในประเทศอาเซียน+6 โดย สสว.มุ่งศึกษา 3 สาขาอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการ SMEs ไทยมีโอกาสในการแข่งสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยศึกษากลุ่มประชากรที่มีรายได้ค่อนข้างสูง มีอำนาจซื้อที่เพียงพอในการบริโภคสินค้าคุณภาพนำเข้าจากต่างประเทศ ครอบคลุมประชากรในศาสนาอิสลาม และศาสนาอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในกรุงจาการ์ตา พบว่าพฤติกรรมการบริโภคสินค้าของชาวอินโดนีเซีย สามารถสรุปได้ดังนี้

อุตสาหกรรมอาหาร ชาวจีนในอินโดนีเซียนิยมรับประทานอาหารจีนเป็นทางเลือกที่ 1 โดยปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้าน แต่วันหยุดสุดสัปดาห์จะรับประทานอาหารตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านอาหารที่มีชื่อเสียง ขณะที่ชาวอินโดนีเซียท้องถิ่นที่เป็นมุสลิมยังคงวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย นิยมอาหารรสหวานและจืด และบางบ้านมักจะมีเครื่องปรุงน้ำพริกเผารสต้มยำกุ้งเป็นเครื่องปรุงประจำบ้าน แต่ยังไม่ค่อยรู้จักและตอบรับอาหารไทยเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับอาหารญี่ปุ่นหรืออาหารเกาหลี

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ชาวจีนในอินโดนีเซียนิยมสินค้าแบรนด์เนมชื่อดังจากประเทศตะวันตก ชอบแต่งกายด้วยสีขาว ดำ น้ำเงิน สีพาสเทล (สีอ่อน เช่น ชมพูอ่อน ฟ้าอ่อน) และไม่ได้มีความเชื่อหรือชื่นชอบสีแดงเช่นชาวจีนทั่วไป ส่วนสินค้าเสื้อผ้าของไทยนั้น คนอินโดนีเซียเชื่อว่าไม่ต่างจากแบรนด์ท้องถิ่น ในส่วนกลุ่มมุสลิมนิยมแฟชั่นมุสลิมสมัยใหม่ (Modern Muslim) ที่มีสีสันสดใส มีการตกแต่งตามแบบแฟชั่นมุสลิมตะวันตก เช่น ประเทศตุรกี

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ชาวจีนในอินโดนีเซียนิยมเครื่องประดับที่ทำจากโลหะสีขาวประเภทแพลทินัม ประดับด้วยเพชรหรือพลอยมากกว่าทองคำ และมองว่าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีคุณภาพและมีฝีมือประณีต โดยเฉพาะกลุ่มที่นิยมแต่งกายแบบ Modern Muslim จะให้ความสำคัญต่อการเลือกใช้เครื่องประดับให้เหมาะสมกับสีสันและรูปแบบของเสื้อผ้าที่หรูหรา

สำหรับโอกาสของสินค้าไทยในประเทศอินโดนีเซีย จากการศึกษาพบว่าปัจจุบันตลาดผู้บริโภคในอินโดนีเซียส่วนใหญ่เป็นผู้มีกำลังซื้อต่ำ สินค้าที่ตอบสนองได้จะต้องเป็นสินค้าราคาต่ำผลิตในท้องถิ่นหรือจากจีน เวียดนามเท่านั้น อย่างไรก็ตาม จากกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชนอย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดกำลังซื้อที่มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

สำหรับตลาดการบริโภคสินค้าไทยในอินโดนีเซีย ผู้ประกอบการควรให้ความสนใจกำลังซื้อในกลุ่มชนชั้นกลางระดับสูงและชนชั้นสูงเป็นเป้าหมายแรก และควรเป็นสินค้าที่มุ่งตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ซึ่งโอกาสและศักยภาพของสินค้าไทยในตลาดดังกล่าว อันดับ 1 คือ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อันดับ 2 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และอันดับ 3 อุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับรวมถึงเสื้อผ้าจากประเทศไทยในรูปแบบของแฟชั่นชั้นสูงยังสามารถสร้างตำแหน่งทางการตลาดได้

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรรวมตัวกันในรูปแบบข้ามอุตสาหกรรมกับสินค้าแฟชั่นอื่นๆ และควรสรรหาคู่ค้าท้องถิ่นที่เชื่อถือได้เข้าร่วมดำเนินการ ทั้งนี้ต้องสร้างแบรนด์และทำการตลาดให้เข้มข้นจึงจะครองใจผู้บริโภคได้

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น