xs
xsm
sm
md
lg

“Asama Scarf” ผ้าพันคอใส่คอนเซ็ปต์ ถูกใจคนไทยและต่างชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผ้าพันคอ แบรนด์ Asama Scarf
สังเกตไหมว่า ยิ่ง Social media เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันมากเท่าไร ธุรกิจที่ยึดช่องทางการขายออนไลน์ ก็ยิ่งขยายตัวตามไปด้วยมากขึ้นเท่านั้น

อย่างกรณี “อสมา ดำเกิงสุรเดช” เจ้าของผ้าพันคอใส่ดีไซน์แบรนด์ Asama Scarf ที่ขายผ้าพันคอในwww.facebook.com/Asamascarf.shop แค่ 1 ปี ก็ประสบความสำเร็จ จนสามารถขยายช่องทางในการทำธุรกิจ ไปสู่การเปิดหน้าร้านที่ห้างหรู Terminal 21 และยังมีออเดอร์จากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
อสมา ดำเกิงสุรเดช
อสมา เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการสร้างธุรกิจว่า มาจากความชอบเป็นตัวตั้ง ตามมาด้วยไอเดียในการออกแบบที่ถูกใจสาวๆวัยทำงาน จึงทำให้แบรนด์ Asama Scarf ประสบความสำเร็จภายในระยะเวลาอันสั้น

ตอนเรียนจบใหม่ๆ เราก็ไปทำงานในบริษัทโฆษณาอยู่ 3 ปี ก่อนจะลาออกมาทำธุรกิจเล็กๆร่วมกับพี่สาว เริ่มต้นจากน้ำเต้าหู้แบรนด์ Foodie ที่มีวางจำหน่ายตามโมเดิร์นเทรด เพราะกระแสรักสุขภาพกำลังมาแรง

แต่ตัวเราเองเป็นคนชอบแต่งตัว ชอบเรื่องของแฟชั่นมากกว่า เลยอยากแยกออกมาทำธุรกิจที่มีความถนัด เริ่มจากการเปิดร้านขายเสื้อผ้าเกาหลีบน facebook ในรูปแบบของการซื้อมาขายไป ตอนแรกธุรกิจก็ไปได้ดี แต่พอขายได้สักครึ่งปี ก็เจอปัญหาในเรื่องของคู่แข่ง ต้องขายตัดราคากัน เรามองแล้วว่าการแข่งขันแบบนี้มันไม่ยั่งยืน
หน้าเฟซบุ๊ก Asamascarf.shop
เลยเริ่มคิดที่จะสร้างแบรนด์สินค้าแฟชั่นของตัวเอง และที่เลือกเป็นผ้าพันคอ ก็เพราะเป็นความชอบส่วนตัว เป็นคนที่ติดผ้าพันคอ เพราะสามารถนำมาใช้งานได้หลายอย่าง ทั้งแทนเสื้อคลุม นำมาผูกเพื่อตกแต่งเสื้อ หรือนำมาพันหมวก พันกระเป๋าเพื่อเพิ่มความเก๋ก็ได้” อสมา เล่า

เพื่อสร้างความแตกต่าง และโฟกัสกลุ่มเป้าหมายให้ชัด อสมาจึงเลือกใช้วัตถุดิบชั้นดี เพื่อจับกลุ่มคนวัยทำงาน ด้วยการนำเข้าผ้าไหมซีฟอง และผ้าไหมซาตินจากเกาหลี ที่เนื้อผ้ามีความอ่อนนุ่ม และไม่บางจนเกินไป

จากนั้นก็ดีไซน์สีสันและลวดลายด้วยตัวเอง คอลเลคชั่นแรกที่ถือว่าเป็นการเปิดตัวแบรนด์ Asama Scarf คือ Love of Beauty ที่จำลองอุปกรณ์ make up ต่างๆ บนโต๊ะเครื่องแป้งมาไว้บนผืนผ้า ไม่ว่าจะเป็นตลับแป้ง น้ำหอม ลิปสติก เน้นกราฟฟิกที่น่ารัก สีสันหวานสดใส

“ที่เลือกดีไซน์ในคอลเลคชั่นนี้ เพราะมองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ผู้หญิงทุกคนเห็นแล้วต้องเก็ท ส่วนช่องทางในการขาย เริ่มจากการขายใน facebook ที่ใช้ขายเสื้อผ้าเกาหลี แต่ไปๆมาๆ ผลตอบรับในเรื่องผ้าพันคอกลับดีกว่า จึงหันมาสร้างแบรนด์ผ้าพันคออย่างจริงจัง

จุดเด่นของแบรนด์ อยู่ตรงที่ลวดลายกราฟฟิกกึ่งการ์ตูน ให้ความรู้สึกน่ารัก และโทนสีหวานสดใส มีหลายเฉดให้เลือก เพราะโทนสีที่แตกต่างกัน ก็ส่งผลให้อารมณ์และความรู้สึกมันเปลี่ยนไปด้วย และยังมีให้เลือกถึง 3 ไซส์ S,M,L ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละคน ราคาอยู่ที่ 690-1,990 บาท”

ส่วนช่องทางในการขาย อสมาเลือกที่จะเปิด facebook ขึ้นใหม่สำหรับแบรนด์ Asama Scarf โดยเฉพาะ ซึ่งจากช่องทางการขายออนไลน์นี้เอง ทำให้มีโอกาสได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับลูกค้าได้โดยตรง ทำให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และนำมาพัฒนาธุรกิจต่อไปได้

“ด้วยความที่สินค้าของเราเป็นผ้าพันคอ ช่องทางการขายทางออนไลน์จึงทำได้ง่าย เพราะลูกค้าไม่ต้องลอง ไม่ต้องมีขนาดเหมือนเสื้อผ้าหรือรองเท้า แค่เห็นแบบและสีสันที่ถูกใจ ก็ตัดสินใจซื้อได้เลย อยู่จังหวัดไหนก็สั่งซื้อสินค้าได้

และจากการได้พูดคุยกับลูกค้า ก็พบว่าลูกค้าจำนวนกว่าครึ่งไม่ได้ซื้อผ้าพันคอของเราไปใช้เอง แต่นิยมซื้อเป็นของฝาก หรือให้เป็นของขวัญตามวันเทศกาลต่างๆ

จึงเป็นที่มาของการออกแบบคอลเลคชั่นสำหรับเป็นของขวัญหรือของฝากโดยเฉพาะ เช่น คอลเลคชั่น Bon Anniversary ที่ลูกค้ามักซื้อไปเป็นของขวัญวันเกิด และด้วยความที่เป็นภาษาฝรั่งเศส จึงดูเก๋กว่า และให้ความหมายที่กลางๆเป็นของขวัญได้สำหรับในทุกโอกาส

คอลเล็คชั่น Bon Voyage สำหรับมอบให้ผู้ที่จะเดินทางไปศึกษาต่อประเทศ หรือเดินทางไปทำงาน หรือช่วงเทศกาลปีใหม่ก็จะมีคอลเล็คชั่น happy new year ที่ดีไซน์เป็นปฏิทินทั้ง 12 เดือน ในแบบอาร์ทๆ”

จนในปัจจุบัน Asama Scraf มีให้เลือกถึง 10 คอลเลคชั่นแล้ว ยอดขายต่อเดือนก็เป็นที่น่าพอใจ จนสามารถขยายช่องทางจำหน่าย โดยการเปิดหน้าร้านที่ห้าง Terminal 21 ได้ ทั้งๆที่เพิ่งเริ่มขายทาง facebook ได้ครบปีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 นี้เอง

“ที่ผ่านมายอดขายกว่า 70% มาจากทางออนไลน์ ส่วนอีก 30% มาจากการที่เราไปออกบูธกิจกรรมร่วมกับห้างสรรพสินค้า และหน่วยงานของภาครัฐต่างๆ ซึ่งจากการออกงานแฟร์บ่อยๆ ยังทำให้ได้ออเดอร์จากต่างประเทศเข้ามาด้วย ถึงจะยังเป็นสัดส่วนไม่เยอะ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ทั้งในประเทศไต้หวัน อเมริกา และออสเตรเลีย

ยิ่งตอนนี้มีหน้าร้านแล้ว คาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้น เพราะมันครบวงจร ลูกค้าบางคนก็ติดตรงที่ว่า ไม่ได้สัมผัสเนื้อผ้าของจริง เลยลังเล ไม่กล้าซื้อ หรือกลัวว่ารูปที่ถ่ายออกมาสีจะเพี้ยน หรือสวยกว่าของจริงบ้าง การมีหน้าร้านจะทำให้แบรนด์มีความน่าเชื่อถือขึ้น ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น

สำหรับแผนการตลาดในปีหน้า นอกจากการปรับปรุงระบบการขายออนไลน์ให้มีความเสถียรมากขึ้น ก็จะโฟกัสไปยังตลาดส่งออกให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยมองไปที่ตลาดญี่ปุ่น และยุโรปเป็นหลัก ด้วยการออกงานแฟร์ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐให้มากขึ้น รวมถึงการออกแบบคอลเลคชั่นใหม่ Love Thailand เพื่อต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงในเดือนเมษายนนี้”

นับว่าเป็นความโชคดี เพราะอสมาไม่เคยเจอปัญหาอะไรร้ายแรงจากการขายของบนช่องทางออนไลน์

จะมีก็แต่ข้อดี ที่ช่วยให้แบรนด์ Asama Scarf ติดตลาดในกลุ่มสาวทำงานรุ่นใหม่ ที่ชอบซื้อของในช่องทางออนไลน์เป็นหลัก และยังรุกตลาดต่างประเทศได้ภายในเวลาแค่ 1 ปี

อสมา จึงเป็นเด็กรุ่นใหม่ ที่เลือกใช้ช่องทางออนไลน์ในการสร้างธุรกิจได้อย่างน่าศึกษา

***ข้อมูลโดยนิตยสาร SMEs PLUS ฉบับเดือนมีนาคม 2556 ***

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น