xs
xsm
sm
md
lg

ม.มหิดล เสนอ 3 แนวทางหนุน SME ข้ามผ่านอุปสรรคเข้าถึง “นวัตกรรม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร. ณัฐสิทธิ์ เกิดศรี วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล
วิทยาลัยการจัดการ ม.มหิดล เผยผลการศึกษาความท้าทายและข้อจำกัดของการขับเคลื่อนนวัตกรรมสำหรับเอสเอ็มอี พบเอสเอ็มอีไทยยังขาดเงินทุน-การสนับสนุนจากภาครัฐ พร้อมเสนอ 3 แนวทาง จัดฐานความรู้เพื่อเป็นแหล่งข้อมูล รวมตัวสร้างเครือข่าย คลัสเตอร์ และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสิทธิ์ เกิดศรี วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการศึกษาเกี่ยวกับ “ความท้าทายและข้อจำกัดของการขับเคลื่อนนวัตกรรมสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย” ทำให้พบว่า SMEs ไทยยังมีอุปสรรคในเรื่องการพัฒนานวัตกรรมอยู่มาก ทั้งเรื่องการสนับสนุนของรัฐบาล ต้นทุนสูง และเข้าถึงเงินทุนยาก ทั้งที่การพัฒนานวัตกรรมจะทำให้ SMEs ไทยมีศักยภาพที่สูงขึ้นแข่งขันกับนานาประเทศได้

ทั้งนี้จึงอยากเสนอแนวทางในการปัญหาด้านการพัฒนานวัตกรรมของ SMEs ในประเทศไทย ด้วยกัน 3 ข้อ คือ

1. การจัดกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญและฐานองค์ความรู้ ในสาขาต่างๆ ให้ชัดเจน และง่ายต่อการเข้าถึง เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลแก่ SMEs รวมถึงการนำเสนอและเผยแพร่กรณีศึกษาของบริษัทที่เป็น Best Practice ของการพัฒนานวัตกรรมในสาขาต่างๆ ซึ่งเนื้อหาในกรณีศึกษาควรครอบคลุม กระบวนการและแนวทางบริหารจัดการอุปสรรคต่างๆ รวมทั้งอารมณ์และความรู้สึกของผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Emotion and Spirit) ในแต่ละช่วงของการพัฒนานวัตกรรมตั้งแต่เริ่มต้นจนกว่าประสบความสำเร็จ

2. การจัดให้มีการรวมตัวของกลุ่ม SMEs ประเภทเดียวกัน ในลักษณะของกลุ่มเครือข่าย Cluster เพื่อให้ SMEs สามารถใช้ทรัพยากรพื้นฐานร่วมกันได้ในการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งถือว่าเป็นการ share ต้นทุน หรือมีหน่วยงานช่วยในการ subsidize ค่าใช้จ่ายบางส่วน โดยแนวคิดนี้รวมไปถึงการเชื่อมโยงกันของบริษัทในกลุ่มเครือข่ายตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) เช่น บริษัทร่วมมือกับบริษัทที่อยู่ต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทาน  ในการพัฒนา Raw Material สำหรับสินค้านวัตกรรม การร่วมมือในรูปแบบดังกล่าวนำไปสู่แนวคิดในเรื่อง Ecosystem ทั้งธุรกิจต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกันในการพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืนและเป็นระบบ รวมถึงเป็นการกระจายต้นทุนในพัฒนานวัตกรรม ซึ่งการรวมตัวของกลุ่ม SMEs และการเชื่อมโยงกันของบริษัทตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน สามารถส่งเสริมผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดงานสัมมนากลุ่มย่อย การประชุมร่วมกัน การศึกษาดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ของบริษัทในกลุ่มของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นต้น

3. การเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่องทาง คือ ช่องทางจากสถาบันการเงิน (Financial institute) ช่องทางจากนักลงทุนอิสระ ในรูปแบบที่เรียกว่า Angel fund และช่องทางจากกลุ่มนักลงทุนหรือนักลงทุนสถาบัน ในรูปแบบที่เรียกว่า Venture capital

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะส่งเสริมช่องทางใดเพื่อให้ผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมเข้าถึงแหล่งทุนก็ควรจัดให้มีเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการบริหารจัดการการเงินสำหรับนวัตกรรม (Financing innovation) ที่มีเนื้อหารวมไปถึงการประเมินคุณค่าหรือมูลค่าของนวัตกรรม เพื่อให้สามารถประเมินอุปสรรคและความเสี่ยงด้านนวัตกรรมที่มีความชัดเจน ซึ่งหมายถึงการมี Risk Procedure และ Risk Profile ที่ชัดเจน นอกจากนี้ ควรมีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับรู้ เพื่อจะได้พิจารณาว่าธุรกิจของเขานั้นอยู่ในสถานะที่พร้อมจะได้รับการสนับสนุนด้านนวัตกรรมหรือไม่ และควรเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ภายใต้การประเมินความเสี่ยงที่ชัดเจนของสถาบันการเงิน

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *

กำลังโหลดความคิดเห็น