สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือเผย เดือน มิ.ย.ยอดลดลง ส่งสัญญาณภาพขนส่งทางเรือหงอย ผลพวงพิษเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ราคาสินค้าเกษตรหดตัว แนะรัฐฯ ศึกษากลุ่มผู้ประกอบการได้รับผลกระทบเพื่อหาทางแก้ปัญหาตรงจุด
นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนมิถุนายน 2556 ลดลงร้อยละ 3.38 หรือมีมูลค่า 19,098 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ต่อจากเดือนพฤษภาคม 2556 จึงทำให้การส่งออกในปีนี้ไม่ดีขึ้น เป็นผลมาจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป รวมทั้งอาเซียนชะลอตัว ประกอบกับราคาสินค้าทางการเกษตรโลกโดยรวมปรับตัวลดลง เห็นได้จากมูลค่ากลุ่มสินค้าเกษตรมีอัตราการเติบโตลดลง โดยเฉพาะข้าวหดตัวถึงร้อยละ 18.85 ขณะที่สินค้าอื่นก็ได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มอุตสหกรรมเฟอร์นิเจอร์และตกแต่งบ้านหดตัวลงร้อยละ 40.58 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา และเครื่องใช้ในครัวเรือนลดลงร้อยละ 12.34 จึงทำให้การส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกมีมูลค่า 113,304 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 0.95
ทั้งนี้ จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีปัจจัยลบจำนวนมาก ทางสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยจึงยังมองว่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 3 หลังจากที่ก่อนนี้เคยคาดการณ์จะขยายตัวร้อยละ 4.92 เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยในช่วงที่เหลือของปีส่งออกต้องมีมูลค่าเฉลี่ยเดือนละ 20,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากไม่สามารถดำเนินการได้จะทำให้การส่งออกปีนี้ต่ำกว่าร้อยละ 3 ได้ ซึ่งมีความเป็นห่วงสถานการณ์ส่งออกในไตรมาส 3 อาจจะไม่สดใส ทำให้การส่งออกอาจโตต่ำกว่าร้อยละ 3
พร้อมกันนี้ยังยอมรับว่า การที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวมากมีผลกระทบต่อการส่งสินค้าไทยไปยังตลาดจีน เนื่องจากไทยส่งออกสินค้าไปจีนสูงถึงร้อยละ 12 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยเฉพาะยางพารา เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ และเม็ดพลาสติก จึงทำให้มองว่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีนจะเติบโตเพียงร้อยละ 2 หรือมีมูลค่า 27,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ซึ่งลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.4 โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ที่ผ่านมาการส่งออกสินค้าไทยไปจีนติดลบร้อยละ 3.6 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือน 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากรัฐบาลจะตั้งเป้าส่งออกไปจีนให้ได้ร้อยละ 2 การส่งออกไปจีนในครึ่งปีหลังต้องขยายตัวให้ได้ร้อยละ 12 หรือมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ที่ปรึกษาคณะกรรมการและกรรมการสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การส่งออกที่ชะลอตัวลงมากจะส่งผลลบต่อศักยภาพของเอกชนไทย โดยเฉพาะต่อผู้ประกอบการรายกลางและเล็กที่จะมีกำไรต่ำลง บางรายต้องยอมขายสินค้าในราคาที่ต่ำลงเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งในอนาคตหากไม่ได้รับการแก้ไขผู้ส่งออกขนาดใหญ่ก็จะขาดศักยภาพด้วยเช่นกัน ดังนั้น ภาครัฐต้องศึกษาผลวิเคราะห์ของนักวิชาการหรือข้อมูลที่มีอยู่ถึงสาเหตุของการส่งออกที่แท้จริงว่าเกิดจากปัจจัยใด และกลุ่มส่งออกไหนได้รับผลกระทบมากที่สุด เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *