xs
xsm
sm
md
lg

กสอ. อัด 3 กลยุทธ์ ปั้น “SMEs ไทยหัวใจ AEC”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

  นายโสภณ ผลประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมพร้อมภาคอุตสาหกรรม สู้ศึก AEC เดินหน้ายกระดับ SMEs ไทย เปิด 3 กลยุทธ์ สร้างเสถียรภาพการค้า แนะผู้ประกอบการไทยเร่งพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ และแสวงหาวัตถุดิบจากแหล่งต้นทุนต่ำ นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการวิจัยและพัฒนา

นายโสภณ ผลประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) นับเป็นการรวมตัวในระดับภูมิภาค โดยใช้ฐานการผลิตร่วมกัน เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคอาเซียน มีการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน อันจะส่งผลให้ตลาดของกลุ่มประเทศอาเซียนรวมกันเป็นตลาดเดียว (Single Market) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและภูมิคุ้มกันให้ภูมิภาคมากขึ้น ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน หากพิจารณาภาพรวมของมูลค่าอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดของภูมิภาคอาเซียน ในปี 2010 คือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 9.8 หมื่นล้านเหรียญ ดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือ อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม ประมาณ 6.2 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบ ประมาณ 4.1 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับโดยมีมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมทั้งหมดของภูมิภาค ประมาณ 1.07 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ที่มา : ASEAN Trade Statistics Database)

อย่างไรก็ตาม กลุ่มวิสาหกิจที่น่าจับตามองและเป็นกลุ่มที่มีการประกอบการมากที่สุด คือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียน อีกทั้งยังมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการลงทุนในประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งการจ้างงานที่สำคัญ มีอัตราการจ้างงานกว่า 73 % จากจำนวนแรงงาน กว่า 300 ล้านคนในภูมิภาคดังนั้น SMEs จึงเป็นรากฐานสำคัญและเป็นกลไกหลักในการเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของทุกประเทศในภูมิภาค

นายโสภณ กล่าวต่อว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนา SMEs ของไทย มาอย่างต่อเนื่อง โดย SMEs ไทยมีจุดแข็งอยู่ที่การเข้าถึงตลาดท้องถิ่นได้ดี มีทักษะในธุรกิจบริการและด้านศิลปะ เชี่ยวชาญในการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบ แรงงานมีประสิทธิภาพสูง และตลาดของประเทศไทยค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีศักยภาพที่สามารถขยายตัวได้ในอนาคต นอกจากนี้ ไทยยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับไปทั่วโลก ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ สามารถสร้างรายได้นำเงินตราเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญประเทศไทยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ในจุดศูนย์กลางของอาเซียน จึงทำให้ได้เปรียบต่อการคมนาคมทั้งทางรถไฟ ทางอากาศ ทางถนน และทางเรือ

ขณะเดียวกันศักยภาพของ SMEs ไทยในอาเซียน ยังเป็นรองประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งสิ่งที่ไทย ควรต้องปรับปรุง อาทิ ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุนต่ำ และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการวิจัยและพัฒนา ขณะที่อัตราค่าจ้างแรงงานของไทยในปัจจุบันค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับลาว กัมพูชา พม่า อินโดนีเซีย และเวียดนาม ทำให้ต้นทุนในภาคการผลิตมีการปรับตัวสูงขึ้น จึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อลดต้นทุนและลดอัตราการสูญเปล่าในกระบวนการผลิตเพื่อชดเชยกับต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น

ส่วนกลยุทธ์ในการปั้น SMEs ไทยให้แข็งแกร่งในเวที AEC นั้น ได้แก่ การสร้าง “ความรู้” ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์การค้า และการลงทุน อาทิ ข้อตกลงทางการค้า / การลงทุนในแต่ละประเทศ สิทธิประโยชน์ สิ่งอำนวยความสะดวก และกฎระเบียบต่าง ๆ โอกาสและผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในธุรกิจสาขาต่าง ๆ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับตลาด และการบริการโลจิสติกส์ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรู้อย่างเพียงพอในการปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ รวมถึงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมี “ความพร้อม” รับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นด้วยการประเมินธุรกิจของตน เพื่อกำหนดแนวทางในการก้าวสู่ AEC ทำการพัฒนาสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจ การบริหารจัดการ การยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้า เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดอาเซียนได้ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมความรู้ความสามารถให้กับผู้ประกอบการสามารถขยายฐานการผลิตไปยังประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน สุดท้ายคือการสร้าง “เครือข่าย” ให้แก่ผู้ประกอบการ ด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกับธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน เพื่อการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในระดับอาเซียนและระดับโลก
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *

กำลังโหลดความคิดเห็น