xs
xsm
sm
md
lg

ปั้น จ.จันทบุรี “นครอัญมณี” จัดโซนดิวตี้ฟรีดึงดูดนักท่องเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สค.เตรียมผลักดัน จ.จันทบุรีเป็น “นครอัญมณี” เชื่อมโยงเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยกับทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะโมซัมบิก แจงภาคเอกชนเสนอจัดเป็นพื้นที่ซื้อขายอัญมณีปลอดภาษีดึงดูดนักท่องเที่ยว

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าฯ ต้องการผลักดันการจัดตั้ง “นครอัญมณี” ของจังหวัดจันทบุรี โดยขณะนี้ได้เดินทางไปเพื่อศึกษาสภาพความพร้อมในการยกระดับให้จันทบุรีเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของอุตสาหกรรมไทยเพื่อเชื่อมโยงวัตถุดิบจากภูมิภาคแอฟริกา โดยเฉพาะโมซัมบิก แทนซาเนีย และมาดากัสการ์ โดยโมซัมบิกเป็นแหล่งพลอยอันดับ 1 ของผู้ประกอบการไทยและของโลก ถือเป็นแหล่งใหญ่ คุณภาพดีและมีมูลค่าสูง ซึ่งจะสร้างรายได้เข้าประเทศและสร้างงานให้แรงงานฝีมือในอุตสาหกรรมนี้ได้หลายหมื่นคน

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นผู้ประกอบการต้องการให้กรมฯ เสนอรัฐบาลเพื่อจัดตั้งเป็นเขตสิทธิประโยชน์พิเศษอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยผลักดันโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุน กำหนดสิทธิประโยชน์ สร้างระบบการค้าและจัดเป็นพื้นที่ปลอดอากร (duty free) เพื่อดึงดูดผู้ค้าและนักลงทุนต่างชาติเข้ามาได้มากขึ้น ซึ่งได้ให้สมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี สมาคมค้าพลอยสีไทย-โมซัมมิก จ.จันทบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมกันจัดส่งสรุปแผนมายังกรมฯ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางเยือนโมซัมบิก แทนซาเนีย และยูกันดาในระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม-2 สิงหาคม 2556 นี้

นางศรีรัตน์กล่าวด้วยว่า ยุทธศาสตร์ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก โดยดำเนินกลยุทธ์ในด้านการพัฒนาและส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมการค้าในด้านนี้ เร่งสำรวจและจัดหาวัตถุดิบจากต่างประเทศในปริมาณที่เพียงพอ พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเครื่องประดับและสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้า การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในการผลิต การเจียระไน การออกแบบ และการบริหารการจัดการ ตลอดจนศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลสินค้าในตลาดต่างประเทศ การพัฒนาบุคลากรในธุรกิจให้มีความสามารถรองรับการขยายตัวของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในการผลิต ออกแบบ ตลอดจนการบริหารการจัดการ และเร่งขยายตลาดใหม่ๆ โดยสนับสนุนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า การจัดคณะผู้แทนการค้า และพัฒนาการซื้อขายสินค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซ

ทั้งนี้ ประเทศไทยตั้งเป้าหมายการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับปี 2556 มูลค่า 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการเติบโต 0% โดยการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ปี 2556 มีมูลค่า 3,337.07 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 27 โดยสินค้าฯ เมื่อหักทองคำไม่ขึ้นรูปแล้วจะมีมูลค่า 2,762 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 3% ซึ่งเป็นมูลค่าส่งออกที่ไม่แตกต่างจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนมากนัก จึงเป็นข้อสังเกตได้ว่าภาวะราคาทองคำของโลกที่ผันผวนยังคงส่งผลกระทบต่อภาพรวมของการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มชะลอมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในปลายปี 2556 นี้เป็นจริง โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เช่น พันธบัตรรัฐบาลจะสิ้นสุดลงประมาณกลางปีหน้า จะส่งผลให้ค่าเงินสกุลดอลลาร์ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบหลายสัปดาห์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการส่งออกในวงกว้าง รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจส่งออกของไทยด้วย

ตลาดส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ 5 อันดับแรก ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐฯ ยูเออี อินเดีย และสิงคโปร์ ส่วนตลาดอัญมณีและเครื่องประดับหักทองคำยังไม่ขึ้นรูป ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐฯ ยูเออี เบลเยียม และเยอรมนี โดยตลาดอินเดียถือเป็นตลาดที่น่าสนใจ แต่อินเดียยังมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTB) และการที่ไทยไม่สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดียได้อย่างเต็มที่ จึงจะเร่งเจรจาเพื่อเพิ่มการค้าอีกทางหนึ่ง

สำหรับสินค้าที่มีอัตราการขยายตัวสูงขึ้น ได้แก่ สินค้าอัญมณี (เพชร พลอย และไข่มุก) 12.3% เครื่องประดับแท้ทำด้วยโลหะมีค่าอื่นๆ (ที่ไม่ใช่เงินและทอง) 3% เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน 1.6% ส่วนสินค้าที่มีอัตราการเจริญเติบโตลดลง ได้แก่ ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปลดลง 69% เครื่องประดับอัญมณีเทียมลดลง 8.3% โลหะมีค่าและของที่หุ้มด้วยโลหะมีค่าอื่นๆ ลดลง 5.2% และอัญมณีสังเคราะห์ 3.8%

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น