xs
xsm
sm
md
lg

ศุลกากรแถลงจับสองผู้ต้องหารับจ้างขนเต่าไปฮ่องกง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

กรมศุลกากรแถลงจับผู้ต้องหาลักลอบขนเต่าส่งออกนอก
ศุลกากรแถลงข่าวการจับกุมสองผู้ต้องหาลักลอบส่งออกเต่าหวายและเต่าหกมีชีวิต จำนวน 343 ตัว มูลค่า 1,715,000 บาท

เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 4 ธ.ค. 55 ที่อาคารตรวจสินค้า สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ นายยุทธนา หยิมการุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายเชิดศักดิ์ วงษ์กมลชุณห์ รองอธิบดีกรมประมง ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมสองผู้ต้องหาลักลอบส่งออกเต่าหวาย และเต่าหกมีชีวิต จำนวน 343 ตัว มูลค่า 1,715,000 บาท

รองอธิบดีกรมศุลกากรกล่าวว่า จากนโยบายของกรมศุลกากรในการเร่งรัดการปราบปรามสินค้าลักลอบหลีกเลี่ยงอาการ รวมถึงของต้องห้ามต้องกำกัดส่งออกนอกราชอาณาจักร ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเฝ้าระวังและตรวจสินค้าที่มีพิรุธอยู่ตลอด จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรฝ่ายสืบสวนปราบปรามสืบทราบว่าจะมีการลักลอบส่งออกสินค้าประเภทเต่ามีชีวิต จึงร่วมกันตรวจสอบสินค้าซึ่งได้ผ่านสถานีตรวจสอบสินค้า (Checking Post) ในเขตปลอดอากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จนกระทั่งเมื่อเวลาประมาณ 02.00 น.ของวันที่ 4 ธ.ค. 55 เจ้าหน้าที่พบชาย 2 คนขับรถนำสินค้าของ บจก.พีวายเอส อินเตอร์เนชั่นแนล เอเยนซี่ ลิมิเต็ด มาส่งตามใบขนส่งสินค้าขาออก เลขที่ A003 15512 01748 สำแดงรายละเอียดสินค้าเป็นผลไม้สด (FRESH FRUITS) วันที่ส่งออก 04/12/2555 ระบุปลายทางเขตปกครองพิเศษฮ่องกง โดยเที่ยวบินที่ HX768 รวม 50 กล่อง เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์ป่าและด่านตรวจสัตว์น้ำ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดสินค้าตรวจสอบ ผลปรากฏว่าภายในกล่องสินค้ากลายเป็นเต่าหก 15 ตัว และเต่าหวาย 328 ตัว จึงควบคุมตัวพนักงานขับรถทั้ง 2 คนไว้สอบสวนเพิ่มเติม

จากการสอบสวนนายทรงศักดิ์ หรือต๋อง แซ่ปึง อายุ 36 ปี หนึ่งในพนักงานขับรถส่งสินค้าให้การว่า มีอาชีพขับรถรับจ้างทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยตนกับเพื่อนอีกคนถูกว่าจ้างให้ไปรับผลไม้สดที่ จ.ชลบุรี มาส่งให้กับเจ้าหน้าที่ประสานงานการนำเข้าและส่งออกสินค้า (Shipping) ของบริษัทแห่งหนึ่งที่อาคารตรวจสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในราคาเที่ยวละ 1,400 บาท โดยทำมาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งตนและเพื่อนไม่ทราบว่าสินค้าที่นำมาจะเป็นสัตว์คุ้มครองดังกล่าว ส่วนผู้ว่าจ้างก็ไม่ทราบว่าเป็นใครเพราะติดต่อกันทางโทรศัพท์และนัดรับสินค้าบนถนนจากรถบรรทุก 6 ล้อพร้อมกับรับเงินค่าจ้าง

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวทั้ง 2 คนไว้รวมทั้งยึดสิ่งของที่ตรวจพบไว้เป็นของกลาง เนื่องจากกรณีดังกล่าวถือว่าเป็นการสำแดงชนิดของปริมาณและประเภทพิกัดศุลกากรอันเป็นเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อกำกัดในการส่งออกโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามมาตรา 99, 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ประกอบมาตรา 16, 17 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 ประกอบอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (CITES) และมาตรา 19, 23 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ก่อนจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น