ด้วยพื้นฐานกิจการครอบครัวผลิตซีอิ๊วและซอสถั่วเหลืองอยู่ที่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี มายาวนาน เมื่อ ‘คมสัน ศรีวัฒนา’ ทายาทธุรกิจรุ่น 3 เข้ามารับช่วงธุรกิจ ได้หยิบจุดเด่นที่เป็นซีอิ๊วสูตรโบราณมาต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ใหม่อย่าง “ไข่ซีอิ๊ว” เพื่อเป็นหัวหอกขยายสู่ตลาดใหม่ให้ลูกค้าจดจำในฐานะสินค้าของฝากประจำแหล่งท่องเที่ยวตลาดน้ำดำเนินสะดวก
ทายาทธุรกิจรุ่น 3 ห้างหุ้นส่วนจำกัด เหลียงเส่งเฮงฮวด เล่าที่มาธุรกิจบุกเบิกตั้งแต่รุ่นอากงยึดอาชีพทำซีอิ๊วแบบครัวเรือนขายมากว่า 80 ปี โดยเป็นสูตรโบราณได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษชาวจีนจนสามารถก่อตั้งโรงงานผลิตแบบอุตสาหกรรมได้เมื่อ พ.ศ. 2526 ที่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ในชื่อตรา “สิงห์บิน” ซึ่งเป็นที่รู้จักและนิยมของคนไทยเชื้อสายจีนในฐานะซีอิ๊วสูตรโบราณแท้ๆ
คมสันเล่าต่อว่า ในยุคพ่อแม่ได้ขยายธุรกิจจนเติบใหญ่ ส่งสินค้าไปตามตลาดสดค้าส่งทั่วประเทศ รวมถึงส่งออกต่างประเทศด้วย จนเมื่อเข้ามาดูแลธุรกิจครอบครัว นอกจากจะสานต่อธุรกิจแล้ว ยังเห็นถึงโอกาสขยายกิจการ จากโอกาสที่ตั้งโรงงานอยู่ใกล้ตลาดน้ำดำเนินสะดวก อีกแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของประเทศ จึงมุ่งเชื่อมโยงธุรกิจดั้งเดิมกับการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ หากจะขายเฉพาะซีอิ๊วสูตรโบราณเป็นขวดๆ เท่านั้นความน่าสนใจคงจะไม่มากนัก ดังนั้นจึงนำ “ไข่เป็ด” มาหมักกับซีอิ๊วสูตรโบราณจนได้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ “ไข่ซีอิ๊ว” ที่มีจุดเด่นทั้งเรื่องความแปลก อร่อย และเพื่อสุขภาพ มาในบรรจุภัณฑ์ห่อกระดาษเงินและทอง เชื่อมโยงศรัทธาเป็นสื่อมงคล เหมาะจะซื้อหาติดไม้ติดมือเป็นของฝากได้เป็นอย่างดี
“กระบวนการผลิตไข่ซีอิ๊วคล้ายกับการทำไข่เค็มทั่วไป แต่จุดเด่นอยู่ที่สูตรของซีอิ๊วซึ่งหมักด้วยวิธีธรรมชาติแบบโบราณ บ่มนานนับเดือน เมื่อนำมาหมักทำไข่ซีอิ๊วจะได้รสชาติที่เค็มหอม และดีต่อสุขภาพเพราะมีสารไอโอดีนสูง ผลิตโดยโรงงานที่ได้มาตรฐานระดับส่งออกครบถ้วน” คมสันอธิบายเสริม
ช่องทางขายของไข่ซีอิ๊วจะเน้นตามจุดท่องเที่ยวใน จ.ราชบุรี และใกล้เคียง โดยเน้นนำเสนอให้เป็นของฝากประจำของ อ.ดำเนินสะดวก สามารถมอบเป็นของที่ระลึกหรือให้ในเทศกาลวันมงคลต่างๆ เช่น ปีใหม่ และตรุษจีน เป็นต้น ขายในราคาฟองละ 10 บาท มีให้เลือก 2 สูตร คือ ไข่เงินสูตรดั้งเดิม และไข่ทองสูตรเห็ดหอม
คมสันระบุว่า ไข่ซีอิ๊วได้ผลตอบรับน่าพอใจ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลต่างๆ จะขายดีมาก อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์แท้จริงในการทำไข่ซีอิ๊วต้องการให้เป็นสินค้าเรียกร้องความสนใจแก่ลูกค้าทั่วไปหรือคนรุ่นใหม่ให้หันมารู้จักแบรนด์ และซีอิ๊วโบราณให้มากยิ่งขึ้น ผ่านการเชื่อมโยงธุรกิจกับของฝากท่องเที่ยว เนื่องจากสินค้ากลุ่มของฝากเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ในที่สุดผลจะย้อนกลับมาช่วยเสริมยอดขายให้แก่กลุ่มซีอิ๊วและซอสต่างๆ ซึ่งเป็นสินค้าหลักของบริษัทฯ
นอกจากไข่ซีอิ๊วแล้ว หนุ่มเจ้าของธุรกิจยังใช้ไอเดียเชื่อมโยงธุรกิจดั้งเดิมเข้ากับการท่องเที่ยวในหลายๆ ด้าน ทั้งทำผลิตภัณฑ์ของฝากอื่นๆ เช่น ผงซีอิ๊วโบราณ สำหรับประกอบอาหารแทนเกลือหรือน้ำปลา รวมถึง ปรับปรุงโรงงานที่ อ.ดำเนินสะดวกให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว เปิดให้เยี่ยมชมเพื่อการเรียนรู้ในการทำซีอิ๊วโบราณ ทั้งหมดเพื่อการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างยิ่งขึ้น
“ธุรกิจของครอบครัว เราเริ่มมาจากทำในครัวเรือน ต่อมาเริ่มปรับเข้าสู่การเป็นแบรนด์ท้องถิ่น ขณะนี้เรากำลังก้าวไปสู่การแตกแบรนด์ใหม่ๆ เพื่อขยายตลาดให้กว้างขึ้น ซึ่งปัจจุบันเรามีอยู่ 3 แบรนด์ คือ 1. สิงห์บิน เน้นตลาดดั้งเดิม 2. OMAKA เน้นเป็นสินค้ากลุ่มสุขภาพเพื่อคนรุ่นใหม่ และ 3. WOK เน้นเป็นสินค้าเพื่อการส่งออก” เจ้าของธุรกิจระบุ และเสริมต่อว่า
ปัจจุบันสินค้าในเครือมีอยู่กว่า 10 รายการ สัดส่วนตลาดแบ่งเป็นขายในประเทศประมาณ 80% ส่วนส่งออกประมาณ 20% ได้แก่ สหรัฐฯ และยุโรป เป็นต้น ด้านแผนตลาดจากนี้จะมุ่งขยายตลาดทั้งใน และต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ผ่านการทำตลาดผ่านสื่อสมัยใหม่อย่างเว็บไซต์และสังคมออนไลน์ รวมถึงออกงานแสดงสินค้าต่างๆ
โทร. 08-6361-1698, 08-1858-8023 และ www.singhbin.com
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *