แบรนด์ “SWEET SIAM” (สวีต สยาม) นำขนมหวานไทยหลายชนิดมาแปรรูป โดยมีเมนู “ข้าวเหนียวทุเรียน” เป็นพระเอก บรรจุในกระป๋องสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิปกติ แค่เปิดฝาพร้อมกินทันที รสชาติใกล้เคียงต้นตำรับทำสดใหม่ ช่วยให้ข้ามข้อจำกัดด้านการเก็บรักษาและขนส่งไปได้ เหมาะจะเป็นสินค้าเพื่อส่งออก เน้นเจาะตลาดลูกค้าชาวจีนที่นิยมขนมไทย
ณัฐสกนธ์ เจริญสาธิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญดีเซิร์ท จำกัด เจ้าของธุรกิจ “SWEET SIAM” เห็นโอกาสจากที่เคยไปเรียนที่ประเทศจีน ทำให้รู้ดีว่าชาวจีนนิยมกินขนมไทยอย่างมาก โดยเฉพาะเมนูที่มีส่วนผสมของผลไม้ไทยกับน้ำกะทิจะได้รับความนิยมเป็นพิเศษ
ประกอบกับรู้ดีถึงเศรษฐกิจของประเทศจีนที่เติบโตอย่างสูงและต่อเนื่อง ประชากรมีจำนวนมากและรายได้ต่อหัวสูงขึ้นเรื่อยๆ เหล่านี้กลายเป็นแรงส่งให้หนุ่มไฟแรงอยากทำธุรกิจขนมไทยแปรรูปเพื่อมุ่งส่งเข้าตลาดแดนมังกรเป็นหลัก
“นวัตกรรมแปรรูปขนมไทยบรรจุกระป๋องมาจากที่ผมไปขอความรู้และคำแนะนำจากสถาบันอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยใช้เวลาวิจัยและพัฒนาอยู่นานเกือบ 2 ปีกับเงินลงทุนหลักล้าน ซึ่งนวัตกรรมนี้จุดเด่นสามารถเก็บอาหารแบบต้นตำรับไว้ได้นานนับปีภายใต้อุณหภูมิปกติ แค่เปิดฝากระป๋องก็กินได้ทันที ทำให้ได้รสชาติใกล้เคียงกับขนมที่ทำสดใหม่ สะดวกต่อการเก็บรักษาและขนส่ง ซึ่งสิ่งสำคัญมาจากเทคนิคการแปรรูป วัตถุดิบ และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งของเรามีทั้งใช้แบบกระป๋อง ถ้วยพลาสติก และซอง” ณัฐสกนธ์อธิบาย
เบื้องต้น มีสินค้า 5 รายการ ล้วนแต่เป็นขนมไทยที่ชาวต่างชาตินิยมทั้งสิ้น สินค้าเด่นคือ ข้าวเหนียวทุเรียน และข้าวเหนียวมะม่วง บรรจุกระป๋องแบบคู่ แยกข้าวเหนียวมูนกับน้ำกะทิ ชุดละ 120 บาท นอกจากนั้นได้แก่ สาคูข้าวโพด และมังคุดลอยแก้ว บรรจุถ้วยพลาสติก ราคา 40 บาท และน้ำกะทิพร้อมดื่มในซอง มี 3 รส ได้แก่ รสมังคุด รสมะม่วง และรสทุเรียน ราคา 25 บาท
เจ้าของไอเดียเผยด้วยว่า สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยให้ขนมมีรสชาติใกล้เคียงขนมทำสดใหม่คือ วัตถุดิบที่ใช้เจาะจงเป็นชนิดเดียวกับขนมต้นตำรับ เช่น ข้าวเหนียวมูนจะใช้พันธุ์เขี้ยวงูจากภาคเหนือ ส่วนทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้จากภาคตะวันออก มะพร้าวที่นำมาทำน้ำกะทิจากภาคใต้ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผลไม้ต่างๆ จะรับซื้อตรงจากชาวสวนในช่วงฤดูที่ผลไม้แต่ละชนิดออกผล แล้วนำมาเก็บไว้ในห้องเย็นเพื่อควบคุมให้มีวัตถุดิบผลิตสินค้าได้ทั้งปี ตลอดจนควบคุมต้นทุนไม่ให้ผันผวนตามราคาขึ้นลงของผลไม้ ส่วนกระบวนการผลิตขณะนี้ยังใช้วิธีว่าจ้างโรงงานอาหารแปรรูป ซึ่งเป็นโรงงานที่ได้มาตรฐานอาหารส่งออกครบถ้วน ทั้ง ISO, GMP และ HACCP
เจ้าของธุรกิจระบุด้วยว่า ใช้เงินลงทุนธุรกิจเบื้องต้นไปแล้วกว่า 10 ล้านบาท สินค้าเริ่มออกตลาดเมื่อปลายปีที่แล้ว (2555) ซึ่งได้ผลตอบด้วยดี ลูกค้าเป้าหมายคือส่งออกประเทศจีนผ่านวิธีทำตลาด ทั้งมีตัวแทนรับซื้อไปทำตลาดในจีน ส่งเข้าร้านอาหารไทย และร้านขายสินค้าอาหารเอเชียในประเทศจีน รวมถึงออกงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับอาหารเพื่อการส่งออกทั้งใน และต่างประเทศ
“ผมวางลูกค้าเป้าหมายหลักคือ ชาวจีน เพราะเป็นตลาดที่ใหญ่มาก มีชาวจีนอยู่ทั่วโลก โดยเวลานี้ตลาดกว่า 80% ส่งไปขายยังประเทศจีนผ่านช่องทางต่างๆ ส่วนอีก 20% ขายตามแหล่งท่องเที่ยวในประเทศ เช่น พัทยา เชียงใหม่ และร้านคิงเพาเวอร์ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ก็ยังเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเมืองไทย ส่วนในอนาคตผมกำลังจะขยายส่งออกไปยังตลาดอาเซียน ซึ่งผู้บริโภคมีความชื่นชอบขนมไทยไม่น้อยเช่นกัน ควบคู่กับเน้นการสร้างแบรนด์ให้ลูกค้าเป้าหมายจดจำให้ได้ด้วย นอกจากนั้น เตรียมจะสร้างโรงงานของตัวเอง” ณัฐสกนธ์กล่าวในตอนท้าย
โทร. 08-6465-4922 www.sweetsiamthailand.com
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *