ด้วยจำนวนสาขาของร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น อีเลฟเว่น” (7-11) ที่ข้อมูลถึงสิ้นเดือนเมษายน 2556 มีรวมกันกว่า 7 พันสาขากระจายอยู่ในแทบทุกซอกซอยของประเทศ หนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญที่หนุนให้ธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จคือ ระบบศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center : DC) ในการจัดส่งสินค้าไปตามสาขาต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน และรวดเร็วภายในไม่เกิน 24 ชั่วโมง
เมื่อไม่นานมานี้ ทีมงาน “SME ผู้จัดการออนไลน์” ได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมศูนย์กระจายสินค้าส่วนภูมิภาค (Regional Distribution Center : RDC) แห่งใหม่ที่จังหวัดลำพูน รวมถึงได้พูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น เกี่ยวกับวิธีดำเนินการของศูนย์ฯ ทั้งด้านการควบคุมสต๊อก และกระจายสินค้าไปยังสาขาต่างๆ เพื่อเป็นอีกต้นแบบสำหรับผู้ประกอบการรายค้าปลีกค้าส่งรายย่อยนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตัวเอง
นายชูศิลป์ จิรวงศ์ศรี รองกรรมการผู้จัดการ สำนักกระจายสินค้า บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ซีพี ออลล์ใช้เวลาพัฒนาระบบจัดส่งสินค้ามานานกว่า 20 ปี จากระยะแรกที่ให้ซัปพลายเออร์ไปผู้จัดส่งสินค้าให้สาขาโดยตรง แต่เมื่อสาขาเริ่มมีจำนวนมากขึ้นประมาณ 20 สาขาระบบเดิมไม่สามารถตอบสนองการส่งสินค้าได้รวดเร็วเพียงพอแล้ว จึงต้องปรับรูปแบบการขนส่งเป็นแบบรวมส่ง ด้วยการตั้งศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center : DC) ขึ้น ถือเป็นผู้บุกเบิกระบบการกระจายสินค้าผ่าน DC เป็นรายแรกๆ ของเมืองไทย
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้นำระบบ Warehouse Management System (WMS) มาใช้ในการบริหารจัดการสินค้า และระบบ Digital Picking ซึ่งเป็นการจัดและขนส่งสินค้าด้วยระบบดิจิตอล ซึ่งจะทำให้จัดสินค้าได้ตรงตามใบสั่งซื้อของแต่ละสาขาได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้อง
สำหรับระบบ DC จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ศูนย์กระจายสินค้าอุปโภคบริโภค (Dry Grocery Distribution Center) เช่น ของแห้ง, เครื่องดื่ม, ของใช้, เครื่องเขียน เป็นต้น และศูนย์กระจายสินค้าควบคุมอุณหภูมิ (Chilled Distribution Center) ของสดต่างๆ เช่น นม, ไส้กรอก , ข้าวกล่อง เป็นต้น ซึ่งทั้งสองประเภทมีธรรมชาติในการเก็บรักษาและขนส่งต่างกัน นอกจากนั้น การเลือกทำเลที่ตั้งของ DC แต่ละแห่งก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน โดยบริษัทฯ จะพิจารณาจากทั้งเรื่องของการเดินทางขนส่ง ความหนาแน่นของจำนวนสาขา ตลอดจนยอดขายของพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้แต่ละ DC สามารถบริการคลอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในปัจจุบันมีศูนย์ DC รวมทั้งสิ้น 6 แห่ง แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 2 แห่ง ได้แก่ ดีซีบางบัวทองมีพื้นที่ 2.5 หมื่นตารางเมตร ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ภาคกลาง, กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 2,450 สาขา และ DC สุวรรณภูมิ มีพื้นที่ 2.2 หมื่นตารางเมตร ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ภาคกลาง 4 จังหวัด และชลบุรี จำนวน 1,798 สาขา
ศูนย์กระจายสินค้าภูมิภาค (RDC) 4 แห่ง ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี มีพื้นที่ 1.2 หมื่นตารางเมตร ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 845 สาขา , จ.ขอนแก่น มีพื้นที่ 1.2 หมื่นตารางเมตร ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ 16 จังหวัดในภาคอีสานจำนวน 855 สาขา, จ.ชลบุรีมีพื้นที่ 1 หมื่นตารางเมตร ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ในภาคตะวันออก จำนวน 520 สาขา และ DC ล่าสุด จ.ลำพูนมีพื้นที่ 1.7 หมื่นตารางเมตร ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 643 สาขา
ผู้บริหารซีพี ออลล์เสริมต่อว่า หัวใจของการจะส่งสินค้าให้ถึงสาขาต่างๆ ได้รวดเร็ว ครบถ้วน ต้องดำเนินการพร้อมกันไปทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยระบบที่ใช้จัดส่งสินค้าของบริษัทฯ นั้นเป็นการประยุกต์มาจากระบบค้าปลีกค้าส่งและศูนย์กระจายสินค้าของหลายๆ ประเทศที่เคยไปศึกษาดูงานมา ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น หรือทางยุโรปนำมาปรับใช้ให้เกิดความเหมาะสมกับการส่งสินค้าของ 7-11 ในเมืองไทย มีจุดเด่นที่สามารถจะจัดส่งสินค้าแบบละเอียดปลีกย่อยไปตามสาขาต่างๆ ได้ทั่วถึง แม้จะสั่งสินค้าเข้ามาเพียง 1-2 ชิ้นก็สามารถส่งสินค้าไปถึงสาขาได้
สำหรับวิธีดำเนินการกระจายสินค้านั้น นายชูศิลป์ อธิบายว่า ควบคุมด้วยระบบไอทีครบวงจร โดยหลังจากสาขาแต่ละแห่งสั่งออเดอร์สินค้าเข้ามาแล้วข้อมูลจะมาปรากฏที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ส่วนกลางของ DC แต่ละแห่งในพื้นที่รับผิดชอบ หลังจากนั้นรายการสั่งสินค้าจะถูกพิมพ์ออกมาเป็นใบรหัสบาร์โค้ด ตามด้วยรหัสบาร์โค้ดจะถูกส่งต่อไปให้เจ้าหน้าที่ซึ่งประจำอยู่ตามหมวดสินค้าต่างๆ ซึ่งแต่ละคนจะมีพื้นที่รับผิดชอบบนชั้นวางของแน่นอน ดูแลสินค้าประมาณ 20 รายการเพื่อให้เกิดความชำนาญในสินค้าที่ตัวเองรับผิดชอบ
จากนั้นพนักงานจะใช้เครื่องมือสแกนบนบาร์โค้ด ซึ่งจะมีสัญญาณไฟสีเขียวไปกระพริบขึ้นที่ชั้นวางสินค้า พนักงานจะหยิบสินค้าตัวนั้นในจำนวนที่ถูกกำหนดไว้ แล้วกดปิดสัญญาณไฟ ตามด้วยใส่สินค้าลงในกล่องที่จะวิ่งมาตามสายพานเลื่อน แต่ละขั้นตอนจะมีการตรวจซ้ำด้วยระบบไอทีเพื่อความแม่นยำ โดยอัตราผิดพลาดจากการเก็บสถิติ สินค้า 1 ล้านชิ้นจากเกิดผิดพลาดไม่เกิน 500 ชิ้น ถือเป็นอัตราที่ต่ำ โดยสาเหตุหลักมาจากความผิดพลาดส่วนบุคคลที่พนักงานหยิบสินค้าผิดพลาด
นายชูศิลป์ เล่าต่อว่า ออเดอร์ของแต่ละสาขาทั่วประเทศจะถูกสรุปยอดในแต่ละวันตอน 03.00-04.30 น. จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการนำข้อมูลไปจัดเตรียมสินค้า จากนั้น สินค้าจะที่ถูกบรรจุลงกล่องต่างๆ เพื่อลำเลียงขึ้นรถขนสินค้า แต่ละคันมีเส้นทางวิ่งแน่นอน โดยสาขาที่อยู่ใกล้ๆ DC หากสั่งออเดอร์เข้ามาตอน 03.00 น.จะได้สินค้าประมาณ 10.00-12.00 น. ส่วนสาขาที่ไกลได้ของช้าที่สุด ก็ไม่เกิน 24 ชม. หลังจากสั่งออเดอร์เข้ามา
ทั้งนี้ ในการวิ่งรถนั้นจะเน้นขนส่งสินค้าในเวลากลางคืน ช่วยให้ขับรถได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ประหยัดต้นทุนเรื่องพลังงานได้ถึง 10% เพราะไม่ต้องประสบปัญหารถติด ขณะที่การจัดวางเส้นทางวิ่งต้องให้ครอบคลุม ไม่ทับเส้นทางกันเอง
รองกรรมการผู้จัดการกล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่ในการวางระบบกระจายสินค้าคือ ต้องให้สินค้าเข้ามาพักใน DC แล้วส่งต่อไปยังร้านสาขาให้เร็วที่สุด เหลือสินค้าคงค้างในสต๊อกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมที่สุด ไม่มากจนเกินไป ซึ่งจะก่อปัญหาสินค้าเก่า ค้นหายากและเปลืองเนื้อที่เก็บ และไม่น้อยเกินไปจนสินค้าขาด ไม่มีของจะส่งให้เมื่อมีออเดอร์เข้ามา ซึ่งความเหมาะสมดังกล่าวต้องอาศัยการเก็บข้อมูลสถิติด้วยคอมพิวเตอร์ ประกอบกับการแจ้งข้อมูลในพื้นที่จริงจากพนักงานร้านตามสาขาต่างๆ
ด้านนายพิทยา เจียรวิสิฐกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า การทำธุรกิจค้าปลีกให้ประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญต้องให้ลูกค้าที่เข้าร้านเกิดความรู้สึกสะดวกสบาย ซึ่งเมื่อเข้าร้านแล้วมีสินค้าใหม่พร้อมให้บริการสม่ำเสมอ เพราะเมื่อสะดวกจะทำให้เกิดความต้องการซื้อสินค้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งการกระจายสินค้าได้ดีขึ้น ความสะดวกก็จะมากขึ้นตามไปด้วย
สำหรับเป้าหมายในการขยายสาขา 7-11 นั้น ภายในอีก 5 ปีข้างหน้าจะขยายให้ถึง 10,000 สาขา โดยบริษัทฯ เตรียมเพิ่มศูนย์กระจายสินค้ารองรับการเติบโตของสาขาดังกล่าว โดยต้นปีหน้า (2557) จะเปิดเพิ่มศูนย์ส่วนกลางที่แถวมหาชัย เนื้อที่ 20,000 ตร.ม. รองรับการกระจายสินค้าสู่สาขาในเขต กทม.ตะวันตก และภาคใต้ตอนบน รวม 10 จังหวัด จำนวน 2,000 สาขา เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท นอกจากนั้น ใน 5 ปีข้างหน้าเตรียมขยายศูนย์ฯ ภูมิภาคเพิ่มอีก 3 แห่งในพื้นที่ภาคกลาง ภาคอีสานใต้ และภาคใต้ตอนล่าง แต่ละแห่งใช้เงินลงทุนประมาณ 500-700 ล้านบาท รวมงบลงทุนในการขยายศูนย์กระจายสินค้าเพิ่มกว่า 3,000 ล้านบาท
นายพิทยาระบุด้วยว่า ปัจจุบันศูนย์กระจายสินค้าของ 7-11 สามารถส่งสินค้าได้ครอบคลุมอยู่แล้ว ทว่า การเปิดศูนย์ฯ เพิ่มจะช่วยให้ส่งมอบสินค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพิ่มรอบขนส่งถี่ยิ่งขึ้น ต้นทุนขนส่งลดลง รวมถึงสามารถปรับส่งสินค้าให้ตรงความต้องการของลูกค้าในท้องถิ่นต่างๆ อีกทั้งยังเพิ่มความหลากหลายของสินค้า ซึ่งจะเกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภคมีทางเลือกซื้อสินค้าจากท้องถิ่นต่างๆ และยังเป็นโอกาสของผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มอี เพิ่มช่องทางกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคทั้งในท้องถิ่นตัวเอง และต่างท้องถิ่น
"เซเว่นฯ พัฒนาระบบกระจายสินค้ามาเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นระบบลอจิสติกส์ครบวงจร ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทนำระบบ IT เข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และสามารถจัดส่งสินค้าได้ภายใน 24 ชม.หลังรับออร์เดอร์ อย่างไรก็ดี ในอนาคตเชื่อมั่นว่าเซเว่นฯ ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัดหลังจากที่รายได้ของประชากรเริ่มเพิ่มมากขึ้น” ผู้บริหารซีพีออลล์ระบุ
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *