xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์แนะผนึกพลังธุรกิจลอจิสติกส์รับมือ AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์
พาณิชย์เผยการลงทุนโครสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท กระตุ้นผู้ประกอบการลอจิสติกส์โต แนะรวมกลุ่มสร้างอำนาจต่อรอง หวังลดต้นทุนขนส่ง

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเปิดสัมมนา “Logistics Excellence Training 2013” ว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 จะทำให้การค้าในภูมิภาคอาเซียนขยายตัวไม่น้อยกว่า 20% ประกอบการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานกว่า 2 ล้านล้านบาทที่จะมีขึ้นตลอด 7 ปีข้างหน้า ทำให้ผู้ประกอบการด้านลอจิสติกส์ไทยได้รับประโยชน์อย่างมาก แต่ผู้ประกอบการต้องมองหาโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าด้านอาหารที่ไทยมีจุดแข็ง

ปัจจุบันต้นทุนด้านลอจิสติกส์ของไทยเกิดจากการขนส่ง 50% ต้นทุนด้านเก็บรักษา 41% อีก 9% เป็นต้นทุนด้านการบริหารจัดการ ดังนั้น หากสามารถปรับลดต้นทุนด้านการขนส่งลงได้ จะช่วยให้ต้นทุนโดยรวมลดลง โดยเฉพาะการขนส่งทางบกที่ปัจจุบันเป็นการขนส่งหลักแต่มีต้นทุนสูงที่สุด เมื่อมีการลงทุนในระบบรางเพิ่มขึ้นตามนโยบายรัฐบาลเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและประเทศชาติ

“ขณะนี้ผู้ประกอบการด้านลอจิสติกส์ของไทยมีจำนวนมากที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม ซึ่งอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นจากการเปิดเสรี ดังนั้น ทางรอดของผู้ประกอบการอยู่ที่การรวมตัวกัน เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง เพิ่มศักยภาพด้านการส่งออก เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลวางไว้ แทนที่จะให้ผู้ประกอบการข้ามชาติหรือผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนดังกล่าว” ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าว

ด้านนายภาณุมาศ ศรีสุข ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลควรจะจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท โดยให้ความสำคัญกับการขนส่งสินค้ามากกว่าการขนส่งคน เพราะต้นทุนการขนส่งสินค้าปัจจุบันสูงถึง 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โดยเป็นต้นทุนจากการขนส่งทางบก 83% ขณะที่การขนส่งทางรางมีสัดส่วน 2% ซึ่งมีศักยภาพที่จะขยายได้อีกผ่านการลงทุนในโครงการรถไฟรางคู่ หากทำได้จะลดต้นทุนการขนส่งสินค้าได้อย่างดี ภาคเอกชนจึงอยากเห็นโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นในลำดับต้นๆ

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงเรื่องการบริหารจัดการ การเดินรถ รวมถึงการเชื่อมโยงพื้นที่ ในการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าทางรางด้วย เพราะแม้มีโครงการรถไฟรางคู่แล้ว แต่หากให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริหารเช่นเดิม โดยไม่มีองค์กรพิเศษที่เข้ามาบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ การลงทุนดังกล่าวก็จะไม่เกิดประโยชน์เต็มประสิทธิภาพ

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *
กำลังโหลดความคิดเห็น