ผ่าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน เน้นระบบราง หวังช่วยเปิดพรมแดนการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน คาดใช้เวลา 10 ปีจึงเห็นผล “คลัง” ระบุจะช่วยดันจีดีพีประเทศโตปีละไม่ต่ำกว่า 5% มั่นใจ 7 ปี สร้างรายได้ในระบบเศรษฐกิจ 20 ล้านล้านบาท “ทนง” แนะรัฐไม่ควรลงทุนแบบเทกระจาด หวั่นเกิดก่อหนี้ในระบบ
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ในช่วงนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะลงทุน 2 ล้านล้านบาท เนื่องจากประเทศไทยมีสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงิน ประมาณ 2.48 ล้านล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการลงทุน และไม่ส่งผลกระทบต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี)
ทั้งนี้ ตามแผนสัดส่วนหนี้สาธารณะจะขึ้นไปสูงสุดที่ 50% ภายในปี 2559 แต่ไม่เกินมาตรฐานโลกที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในโครงการ 2 ล้านล้านบาท เป็นการกู้เงินในประเทศทั้งหมด โดยเบื้องต้น จะออกเป็นพันธบัตร และอาจเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของภาครัฐ หรือ PPP ซึ่งจะช่วยลดภาระการกู้เงินให้แก่รัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ผลจากการลงทุน 2 ล้านล้านบาท จะทำให้สามารถสร้างรายได้กลับมาให้ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 11.8 ล้านล้านบาท เป็น 20 ล้านล้านบาท ภายในระยะ 7 ปีของแผนการลงทุน และจะผลักดันให้จีดีพีขยายตัวเฉลี่ยอย่างต่ำ 5% ต่อปี แต่สิ่งที่กระทรวงการคลังจะต้องระมัดระวังคือ การดูแลหนี้สาธารณะ และดุลบัญชีเดินสะพัดที่ต้องควบคุมไม่ให้เกิน 3% ของจีดีพี ซึ่งการลงทุน 2 ล้านล้านบาท จะทำให้ขาดดุลเพียง 1% ของจีดีพีเท่านั้น นอกจากนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยังจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งลง 2% เหลือ 13% จากปัจจุบันอยู่ที่ 15% ของรายได้ของประเทศ ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทย
นายทนง พิทยะ อดีต รมว.การคลัง กล่าวว่า ในส่วนของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท มองว่าไม่ควรลงทุนเป็นในลักษณะเทกระจาด เพราะจะทำให้มองไม่เห็นความสำคัญว่าจะลงทุนในส่วนไหนก่อน จนเกิดปัญหาก่อหนี้จากการกู้เงินเพื่อมาลงทุน โดยไม่เกิดประโยชน์ เพราะปัจจุบัน ไทยมีอัตราหนี้สินอยู่ที่ระดับ 40% ของจีดีพี ถ้ารวมหนี้สินนอกงบประมาณ อัตราหนี้สินของไทยจะอยู่ที่ประมาณ 50% ของจีดีพี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมากแล้ว
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ในงานสัมมนาหัวข้อ “การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน...ประเทศชาติ และประชาชน” (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ได้อะไร? โดยระบุว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ 80% จะเป็นการลงทุนในระบบราง เพื่อเปิดพรมแดนการค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะเห็นผลจากการลงทุนในระยะ 10 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2566 จากช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เน้นการลงทุนทางถนนมาโดยตลอด และจะช่วยกระจายการพัฒนาไปยังจังหวัดอื่นๆ
“มั่นใจว่าการลงทุนโครงการต่างๆ จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากตามร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท จะต้องดำเนินการกู้เงินให้เสร็จสิ้นภายในปี 2563 ทำให้มีเม็ดเงินดำเนินโครงการต่อเนื่อง”
ด้านนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ร.ฟ.ท.จะได้รับงบประมาณการลงทุน 1.3-1.4 ล้านล้านบาท ในการลงทุนรถไฟรางคู่ เช่น เส้นทางสายจิระ-หนองคาย, สายชุมทางจิระ-อุบลราชธานี, สายบ้านไผ่-นครพนม และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะช่วยพัฒนาลอจิสติกส์ภาคอีสานให้เป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมอินโดจีน