กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเผยแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ไทย ปี 2556 ชี้รัฐบาลมุ่งเป้าเพิ่มสัดส่วน SMEs ต่อ GDP ร้อยละ 40 ภายในระยะเวลา 10 ปี โดยเตรียมจัดสรรงบปี 2557 กว่า 22,300 ล้านบาท ให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพทำงานร่วมกระทรวงต่างๆ เกี่ยวข้อง โดยวาง 2 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ การเพิ่มขีดความสามารถ SMEs และ OTOP สู่สากล สร้างโอกาสรายได้ ภายใต้กรอบลดความเลื่อมล้ำ พร้อมเตรียม 5 แนวทางช่วย SMEs รับผลกระทบการเพิ่มค่าแรงวันละ 300 บาท
นายโสภณ ผลประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลกำหนดให้การพัฒนา SMEs เป็นประเด็นสำคัญในยุทธศาสตร์ประเทศ และผนวกการพัฒนา SMEs เข้ากับแผนยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy) ในช่วงต้นปี 2556 ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าในการเพิ่มสัดส่วน SMEs ต่อ GDP ใหมากกว่าร้อยละ 40 ต่อ GDP ภายในระยะเวลาประมาณ 10 ปี โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 2 ประการ คือ
1) การเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs และสินค้า OTOP สู่สากล ภายใต้กรอบการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Growth & Competitiveness) เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง
2) การสร้างโอกาสและรายได้แก่ SMEs และเศรษฐกิจชุมชน ภายใต้กรอบการลดความเหลื่อมล้ำ (Inclusive Growth)
ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในปี 2557 เพื่อการพัฒนา SMEs ภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณด้านการเร่งรัดพัฒนาประเทศและเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน โดยในการจัดทำงบประมาณเพื่อการพัฒนา SMEs ได้มอบหมายใหกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพในการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดูแลด้านการวิจัยและพัฒนา กระทรวงศึกษาธิการดูแลด้านการยกระดับคุณภาพความรู้และเพิ่มศักยภาพชุมชนผู้ประกอบการ กระทรวงพาณิชย์ดูแลด้านการค้าและการส่งออก กระทรวงการคลังดูแลเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุน รวมถึงกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม เป็นต้น
“ด้วยความต้องการที่จะเห็นความเชื่อมโยงของงานและภาพของการส่งเสริม SMEs ที่หน่วยงานกระทรวงและกรมต่างๆ มีความร่วมมือกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินงาน อันจะลดภาระงานและงบประมาณของประเทศ โดยเบื้องต้นมีกระทรวงต่างๆ ขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนา SMEs รวมถึง 22,300 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้สำนักงบประมาณกำลังพิจารณารายละเอียดคำของบประมาณของส่วนราชการต่างๆ เพื่อดำเนินการจัดสรรให้ตามความเหมาะสมต่อไป” นายโสภณกล่าว
นายโสภณกล่าวต่อว่า ในปี 2556 และต่อจากนี้ไปจะเป็นยุคทองแห่ง SMEs ได้ เพราะรัฐบาลได้ปรับโครงสร้างการส่งเสริมพัฒนา SMEs ใหม่ โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นกระทรวงเจ้าภาพที่บูรณาการการส่งเสริมพัฒนา SMEs ในแต่ละอุตสาหกรรมจะต้องมีการพิจารณาถึงการนำเทคโนโลยี หรือ IT เข้ามาใช้เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน รวมทั้งการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยลดความซ้ำซ้อนต่างๆ ลงซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยมีหน่วยงานวิจัยต่างๆ เป็นจำนวนมาก
แต่ถ้าต่างคนต่างวิจัยก็จะเป็นการวิจัยซ้ำซ้อน นี่คือสิ่งที่หน่วยงานต่างๆ ต้องตกลงกันโดยใช้ลักษณะยุทธศาสตร์ที่เป็นที่ตั้ง ทุกฝ่ายช่วยกันและบูรณาการเรื่องการซ้ำซ้อน เพื่อเป็นการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ถ้าหน่วยงานที่เป็นต้นสังกัดวางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนแล้วประสานกับหน่วยงานจากกระทรวงอื่นโดยยึดยุทธศาสตร์เป็นที่ตั้ง การส่งเสริม SMEs ก็จะมีการบูรณาการกันมากขึ้น ไม่ทำงานแบบแค่กระทรวงต่อไป ซึ่งคาดว่า SMEs ได้จะได้รับการพัฒนาและส่งเสริมสูงสุด
สำหรับการส่งเสริมให้ ผู้ประกอบการปรับตัวกับฐานค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท กรมส่งสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้นโยบายของรัฐบาล มีแนวทาง 5 แนวทางในการส่งเสริม ดังนี้
1. มาตรการเพื่อเสริมสภาพคล่อง เพิ่มวงเงิน ลดต้นทุนทางการเงิน โดยผ่านกระบวนการให้สินเชื่อ ได้แก่ มาตรการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการเสริมสร้างสภาพคล่องสถานประกอบการ และเพิ่มผลผลิตรงงาน มาตรการสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต (Productivity Improvement Loan) มาตรการการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการใหม่ (PGS New/Start-up)
2. มาตรการลดต้นทุนผู้ประกอบการ โดยผ่านกระบวนการทางภาษีและเงินสมทบ ได้แก่ มาตรการการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม มาตรการการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล มาตรการการนำส่วนต่างของค่าจ้างที่จ่ายเพิ่มขึ้นมากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2555 เป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท มาหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนชำระภาษี มาตรการการนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพัฒาฝีมือแรงงานมาหักลดหย่อนภาษี มาตรการการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และมาตรการการหักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร เป็นต้น
3. มาตรการเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้ผู้ประกอบการ ได้แก่ มาตรการการให้กู้ยืเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 เพื่อใช้ในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และ มาตรการการจัดคลินิกพัฒนาฝีมือแรงงานเคลื่อนที่ไปยังสถานประกอบการต่างๆ
4. มาตรการเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการโดยการทบทวนค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ได้แก่ มาตรการการปรับเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการ
5. มาตการกระตุ้นและส่งเสริมการขายโดยผ่านการบริโภค ได้แก่ มาตรการการจัดคาราวานสินค้าราคาถูกไปจำหน่ายให้ลูกจ้างในสถานประกอบการ
ปัจจุบัน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นกลไกหลักในการเสริมสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 2,652,854 ราย จำแนกเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) จำนวน2,646,549 ราย จำแนกเป็นวิสาหกิจขนาดย่อม จำนวน 2,634,840 ราย วิสาหกิจขนาดกลางจำนวน 11,709 ราย และเป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่ จำนวน 6,253 ราย โดย SMEs มีสัดส่วนถึงร้อยละ 99.76 ของวิสาหกิจทั้งหมด
นอกจากนี้ SMEs ยังเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญของประเทศ โดยมีการจ้างงานคิดเป็นร้อยละ 78 ของการจ้างงานรวมของประเทศ มีมูลค่าลิตัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของ SMEs คิดเป็นสัด่วนประมาณร้อยละ 37.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศและมูลค่าการส่งออกของ SMEs มีมูลค่าประมาณ 1.75 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 28.4 ของมูลค่าส่งออกรวมของประเทศ
สำหรับผู้ประกอบการหรือประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมโครงการกับทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และขอรับคำปรึกษาแนะนำโดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เบอร์โทรศัพท์ 0-2202-4414 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th