xs
xsm
sm
md
lg

เอสเอ็มอีไทยเห็นด้วยเลื่อนเปิดเออีซีเป็นปลายปี 58

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ม.หอการค้าไทยชี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นด้วยเลื่อนเปิด AEC เป็นปลายปี 2558 หลังไม่พร้อมในหลายด้าน ขณะที่รัฐบาลต้องเสริมแกร่งผู้ประกอบการยังไม่หลากหลายและครอบคลุมเพียงพอ เผยพบอุตสาหกรรมใหญ่เตรียมรับมือ AEC ได้ดี ขณะที่รายเล็กยังขาดความรู้และการตั้งรับ หวั่นปรับตัวไม่ทัน

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงความพร้อมและความเข้าใจของภาคการผลิตและภาคบริการไทยต่อการแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 ว่า ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอีกว่า 95.56% เห็นด้วยที่จะให้เลื่อนเปิดเออีซี จากวันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นสิ้นปี 2558 แทน เนื่องจากยังไม่มีความพร้อมเท่าที่ควร รวมถึงยังมีหลายสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ เช่น ส่งเสริมพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเออีซี นอกจากนี้ควรสนับสนุนการพัฒนาด้านภาษาทั้งภาษาอังกฤษและภาษาประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกันควรพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงานสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและสังคมให้แก่นักลงทุนต่างชาติ สนับสนุนเงินทุนและการเข้าถึงเงินทุนโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ลดความขัดแย้งทางการเมืองและสังคม เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการสำรวจ 1,500 ตัวอย่างใน 13 ประเภทธุรกิจ พบว่าผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเออีซีมาก โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 24.7 ในปี 2553 พอมาปี 2554 เพิ่มเป็นร้อยละ 87.7 และปี 2555 เพิ่มเป็นร้อยละ 97.78 ขณะที่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) แม้จะมีสัดส่วนผู้มีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น จากร้อยะ 20.5 ในปี 2553 เพิ่มเป็นร้อยละ 42.5 ในปี 2554 และในปี 2555 เพิ่มเป็นร้อยละ 43.8 ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 เนื่องจากอยู่ในจังหวัดเล็กๆ ที่ขาดการเข้าถึงข้อมูล

ดังนั้น ต้องเร่งเสริมสร้างความเข้าใจแก่เอสเอ็มอี ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่เข้าใจเออีซีมากที่สุดคือภาคเกษตรกรรมร้อยละ 80 รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 52.8 โดยธุรกิจที่ไม่เข้าใจมากที่สุดคืออุตสาหกรรมก่อสร้าง มีสัดส่วนที่ไม่เข้าใจสูงถึงร้อยละ 94.74 รองลงมาคือกลุ่มปศุสัตว์ร้อยละ 93.75 เป็นต้น ส่วนสาเหตุที่ทำให้ไม่เข้าใจเออีซีเนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารยังน้อยและไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะเอสเอ็มอีในต่างจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดเล็กๆ ซึ่งมีสัดส่วนมากถึงประมาณร้อยละ 61.19 รองลงมาร้อยละ 28.36 เพราะยังไม่มีหน่วยงานใดมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเออีซีที่ชัดเจน

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือที่ต้องการ คือ ควรเผยแพร่ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับเออีซีผ่านสื่อในทุกๆ ช่องทางให้หลากหลาย โดยเฉพาะสื่อวิทยุและโทรทัศน์ และไม่เป็นวิชาการมากเกินไป พร้อมกันนี้ต้องมีการจัดอบรมสัมมนา และหน่วยงานที่ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด ส่วนประเด็นเออีซีที่ผู้ประกอบการต้องการข้อมูลเพิ่มเติมมากที่สุดคือเรื่องมาตรฐานสินค้าร่วมของอาเซียน รองลงมาเป็นการเปิดเสรีด้านการลงทุน และการเคลื่อนย้ายฝีมือแรงงาน

นอกจากนี้ ความพร้อมของภาคการผลิตและภาคบริการกับการแข่งขันในเออีซี พบว่าในปี 2555 เอสเอ็มอีมากกว่าร้อยละ 50 ยังไม่มีความพร้อมในการแข่งขัน ส่วนผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีความพร้อมแล้วที่จะเข้าสู่เออีซีถึงร้อยละ 94.7 อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาความพร้อมของธุรกิจ แยกตามกิจกรรมการผลิตและบริการต่างๆ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อมในการแข่งขันภายใต้เออีซี ส่วนที่พร้อมแข่งขันได้แก่ ธุรกิจบริการสื่อสารและโทรคมนาคม ธุรกิจการเงิน ธุรกิจภัตตาคารและโรงแรม รวมถึงธุรกิจขนส่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น