สสว.เผยผลศึกษาผลกระทบของนโยบายและกฎหมายของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนต่อ SMEs ไทย มุ่งเป้าหมายเพื่อเสนอแนวทางกำหนดนโยบายและพัฒนากฎหมายไทยให้ทันสถานการณ์ และเอื้อต่อการค้าการลงทุนของ SMEs ไทยในการก้าวเข้าสู่ AEC ที่สำคัญเพื่อเป็นข้อมูลที่จะนำไปสู่การเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการ SMEs และใช้โอกาสในการเข้าสู่ AEC ให้เป็นประโยชน์ต่อการขยายธุรกิจสู่สากล
ดร.อิสรา ภูมาศ ที่ปรึกษาสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลรวมถึง สสว.ได้ดำเนินโครงการศึกษาผลกระทบของนโยบายและกฎหมายของประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีต่อ SMEs ไทย เพื่อศึกษาเกี่ยวกับนโยบายและกฎหมายของประเทศสมาชิกอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจและการส่งเสริม SMEs ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการ SMEs ไทย รวมทั้งเสนอแนะแนวทางในการกำหนดนโยบายและการพัฒนากฎหมายที่สำคัญของไทยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง และเอื้อต่อการประกอบธุรกิจของ SMEs ไทยในประเทศสมาชิกอาเซียน ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558
สำหรับการดำเนินโครงการนี้มุ่งศึกษาในกลุ่มสมาชิกอาเซียนจำนวน 10 ประเทศ โดยมีผลการศึกษาดังนี้
บรูไน รัฐบาลได้ประกาศแผนพัฒนาประเทศในระยะยาวฉบับแรก คือ “วิสัยทัศน์บรูไน ปี 2578 หรือ Vision Brunei 2035” ด้วยการนำพาเศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพาน้ำมัน ไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายให้บรูไนขึ้นติดอันดับ TOP 10 ของประเทศที่มี GDP ต่อหัวสูงสุดในโลกภายในปี 2578
นโยบายด้านการค้าการลงทุน รัฐบาลได้มีการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุนมากขึ้น โดยอนุญาตให้มีการลงทุนจากต่างประเทศเกือบทุกสาขา และอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 100% ทุกสาขา ยกเว้นอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรภายในประเทศและที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารแห่งชาติ ที่ยังต้องมีผู้ถือหุ้นในประเทศอย่างน้อย 30% ในสาขาเกษตร ประมง และแปรรูปอาหาร นอกจากนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การลงทุนเกี่ยวกับการผลิตปิโตรเคมีขั้นปลายน้ำ และสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้พลังงานของบรูไน แต่สิ่งที่เป็นข้อจำกัดคือ มาตรการเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหาร เนื้อสัตว์ ต้องเป็นสินค้าฮาลาลเท่านั้น ส่วนที่ต้องมีการขอใบอนุญาตนำเข้า ได้แก่ อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม เครื่องมือแพทย์ เคมีภัณฑ์ พืชและสัตว์มีชีวิต
กัมพูชา รัฐบาลได้มีการปรับเปลี่ยนมาสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี โดยเตรียมการปฏิรูปทั้งโครงสร้างและเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งเศรษฐกิจส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลได้มุ่งขยายปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างภาคเกษตร และอุตสาหกรรม รวมทั้งข้อได้เปรียบในการแข่งขันกับทั้งในภูมิภาคและระดับนานาประเทศ
นอกจากนี้ยังมุ่งปรับสภาพแวดล้อมในการลงทุน เพิ่มการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพิ่มการฝึกฝนความเป็นมืออาชีพ รวมทั้งการสร้างเขตอุตสาหกรรมและเขตส่งออกที่มีโครงสร้างพื้นฐานและบริการที่มีประสิทธิภาพ และให้ความสำคัญต่อนโยบายการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศควบคู่ไปกับการรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ
นโยบายด้านการค้าการลงทุน เนื่องจากกัมพูชาไม่สามารถผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเพียงพอ จึงต้องอาศัยการนำเข้าเป็นหลัก โดยมีนโยบายการค้าเสรีไม่มีข้อกีดกันทางการค้า มีเพียงห้ามการนำเข้าสินค้าบางประเภทที่กระทบต่อความมั่นคง สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม และการควบคุมสินค้าส่งออก ที่ต้องได้รับอนุญาตก่อนส่งออกจากประเทศ คือ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ และข้าว นอกจากนี้ มีข้อกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าต้องชำระภาษีนำเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีอื่นๆ ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
อินโดนีเซีย รัฐบาลได้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มโอกาสการจ้างงานและกระตุ้นการค้าการลงทุนภายในประเทศ โดยให้ความสำคัญในเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและส่งเสริมการส่งออกสินค้าสำคัญ รวมถึงปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่อดึงดูดการลงทุน แต่ก็ยังมีการปกป้องตลาดภายในประเทศ โดยการออกกฎระเบียบที่มีลักษณะกีดกันการนำเข้าและการจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายที่มีการนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย โดยกำหนดสินค้าสำคัญ 5 กลุ่ม คือ อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และของเด็กเล่น ซึ่งกำหนดให้นำเข้าเฉพาะท่าเรือและท่าอากาศยานที่กำหนดไว้เท่านั้น
นโยบายด้านการค้าการลงทุน ต้นปี 2555 BKPM ได้ออกมาตรการใหม่เพื่อกระตุ้นการลงทุนในอินโดนีเซีย โดยให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่นักลงทุนใน 129 สาขาเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมปลายน้ำให้มีการใช้ทรัพยากรในประเทศเป็นวัตถุดิบและลดการนำเข้าสินค้าบริโภคขั้นสุดท้าย เช่น การเพาะปลูกพืช การทำเหมืองแร่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อิเล็กทรอนิกส์ ยา และอาหาร อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังมีการกำหนดมาตรการกีดกันทางการค้าหลายมาตรการ เช่น การห้ามนำเข้า การออกใบอนุญาตนำเข้า ด้านสุขอนามัย รวมถึงการขึ้นทะเบียนอาหารและยา
ลาว ได้เริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจเสรีเมื่อปี 2529 โดยการใช้นโยบาย “จินตนาการใหม่” ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศมากขึ้น และในปี 2554-2558 ซึ่งอยู่ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 ที่มุ่งจะลดอัตราความยากจน การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ และเตรียมความพร้อมสำหรับการรวมตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะพาตนเองออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดให้ได้ในปี 2563 และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลได้มีการดำเนินมาตรการหลายประการ ทั้งการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในหลายๆ เขต ส่งผลให้จะต้องมีการวางระบบสื่อสาร ระบบคมนาคมขนส่ง ระบบสายไฟฟ้า ฯลฯ แผนการพัฒนาระบบการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ แผนพัฒนาการทำเหมือง รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
นโยบายด้านการค้าการลงทุน แม้ว่ารัฐบาลต้องการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ แต่นักลงทุนต่างชาติยังประสบปัญหาสำหรับการลงทุนในลาว เนื่องจากระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานยังไม่เพียงพอ เส้นทางคมนาคมขนส่งภายในประเทศยังไม่ดี นโยบายของรัฐบาลกลางกับนโยบายของแต่ละแขวงอาจยังไม่สอดคล้องกันในทางปฏิบัติ แรงงานที่มีทักษะและมาตรฐานสำหรับบางอุตสาหกรรมยังมีจำนวนน้อย ขาดแคลนแรงงาน ฯลฯ ส่วนมาตรการทางการค้าที่สำคัญ ประกอบด้วย สินค้าห้ามนำเข้า 8 รายการ ได้แก่ ปืนและอาวุธสงคราม เมล็ดฝิ่น กัญชา โคเคนและส่วนประกอบ เครื่องมือหาปลาแบบดับสูญ เครื่องจักรดีเซลใช้แล้ว ตู้เย็น ตู้แช่ สินค้าใช้แล้ว ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ สารเคมีอันตราย สินค้าที่ห้ามส่งออกมีทั้งหมด 4 รายการ ฝิ่นและกัญชา ปืนและอาวุธ ไม้ซุงและวัตถุโบราณ นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้า 18 รายการ และอนุญาตส่งออกอีก 9 รายการ
มาเลเซีย จากวิสัยทัศน์ปี 2020 ของมาเลเซีย ที่กำหนดอนาคตว่า มาเลเซียจะต้องเป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ในปี 2020 และได้วางนโยบายวิสัยทัศน์แห่งชาติที่มุ่งจะสร้างให้เป็นประเทศที่มีความยืดหยุ่น คงทน และมีความสามารถในการแข่งขัน โดยให้ความสำคัญต่อการเติบโตที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของประสิทธิภาพการผลิตโดยรวม ซึ่งจะเน้นการลงทุนที่มีการค้นคว้า วิจัย และเทคโนโลยีสูง ปัจจุบันรัฐบาลมาเลเซียได้ใช้นโยบาย New Economic Model (NEM) ซึ่งให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าเพื่อพัฒนาประเทศตามศักยภาพที่แท้จริง และมีแนวคิดที่จะยกระดับเศรษฐกิจของมาเลเซียไปสู่ระดับ High Income
นโยบายด้านการค้าการลงทุน ภายใต้แผนพัฒนามาเลเซีย ปี 2551-2563 ได้กำหนดสาขาเศรษฐกิจหลักแห่งชาติ 12 สาขา เพื่อเป็นสาขานำในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซและพลังงาน ปาล์มและน้ำมันบริการทางการเงิน ท่องเที่ยว บริการทางธุรกิจ อิเล็กทรอนิกส์ ค้าส่งและค้าปลีก การศึกษา บริการสุขภาพ สื่อสารโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน เกษตร และการลงทุนในเขตพัฒนาการทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดเสรีภาคบริการด้วยการยกเลิกข้อบังคับที่ต้องมีชาวภูมิบุตรถือครองหุ้นร้อยละ 30 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปนโยบาย NEM และเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติ โดยอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ 100% ในสาขาบริการย่อย 27 สาขา ครอบคลุมบริการด้านการท่องเที่ยว สุขภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศ และขนส่ง รวมถึงการลงทุนในศูนย์กระจายสินค้าระดับภูมิภาค ศูนย์จัดซื้อสินค้าระหว่างประเทศ และการทำธุรกิจเหมืองแร่ ขณะเดียวกันยังมีการคลายข้อกำหนดการถือหุ้นของต่างชาติและเงื่อนไขด้านการส่งออกในการลงทุนด้านการผลิตอีกด้วย อย่างไรก็ดี รัฐบาลมาเลเซียยังคงไว้ซึ่งอำนาจในการอนุมัติการลงทุนจากต่างชาติไว้ค่อนข้างสูง เพราะต้องการลดการพึ่งพาเศรษฐกิจจากภายนอก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป
พม่า จากการที่รัฐบาลพม่าดำเนินนโยบายในการเปิดประเทศมากขึ้น มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการส่งเสริมการลงทุนแห่งสหภาพพม่า ให้ทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนจากต่างชาติ โดยมีคณะกรรมการการลงทุนจากต่างประเทศเป็นผู้พิจารณาโครงการลงทุนในเบื้องต้น ซึ่งรูปแบบการลงทุนที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลมี 2 รูปแบบ คือ 1. การลงทุนที่ชาวต่างชาติถือหุ้น 100% 2. การร่วมทุน ซึ่งแบ่งเป็น การร่วมทุนกับรัฐบาลพม่า โดยนักลงทุนต่างชาติสามารถเจรจาขอร่วมลงทุนได้มากกว่า 35% ของมูลค่าเงินลงทุนรวม และการร่วมทุนกับเอกชนพม่า ซึ่งนักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนในสัดส่วนน้อยกว่า 35% นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในลักษณะที่เป็น BOT (Build Operate and Transfer) ในธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ ส่วนการลงทุนที่เป็น PSC (Product Sharing Contract) อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนเฉพาะด้านการสำรวจและขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้ประโยชน์เท่านั้น
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ยังคงเป็นอุปสรรคสำหรับต่อการลงทุนในพม่า คือความไม่มั่นคงในด้านนโยบายและกฎระเบียบ ความเข้มงวดต่อการทำธุรกรรมทางการเงินของบริษัทต่างชาติ ระบบโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอ ระบบการดำเนินธุรกิจยังไม่ได้รับการพัฒนาและขาดทักษะ แต่จากการที่ทุกภาคส่วนของพม่าตื่นตัวกับสัญญาณการพัฒนาเศรษฐกิจในครั้งนี้ รัฐบาลพม่าจึงได้ออกมาตรการและแผนงานต่างๆ เช่น แผนการปฏิรูประบบภาษีอากร ความร่วมมือกับภาคเอกชน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจภายใน 10 ปี และออกนโยบายส่งเสริม SMEs เป็นต้น
ฟิลิปปินส์ แรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ คือการบริโภคในประเทศ การขยายตัวด้านการส่งออกและการลงทุน รวมถึงการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยมีแผนการพัฒนาสำหรับปี 2554-2559 ด้วยมาตรการการพัฒนาเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน สร้างความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาทั้งด้านภูมิศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข การเข้าถึงแหล่งเงินทุน โครงสร้างพื้นฐานและที่ดิน ฯลฯ โดยรัฐบาลปัจจุบันยังให้ความสำคัญต่อการเร่งรัดพัฒนาภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะการเพิ่มผลผลิตข้าวให้เพียงพอต่อการบริโภคและลดการนำเข้า
นโยบายด้านการค้าการลงทุน รัฐบาลมีนโยบายเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน เพื่อระดมทุนในการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ และเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนโดยการอำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนการดำเนินธุรกิจให้มีความสะดวกรวดเร็วขึ้นทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการลงทุน โดยสนับสนุนกลไกความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน และส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น การก่อสร้าง รถไฟฟ้า ท่าอากาศยาน และพลังงาน แต่มาตรการที่จะเป็นอุปสรรคทางการค้าที่สำคัญ เช่น การอนุญาตนำเข้า การห้ามนำเข้า การตอบโต้การทุ่มตลาด การปกป้อง และการสุขอนามัยพืชและสัตว์
สิงคโปร์ จากข้อจำกัดทั้งในด้านขนาดของพื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติ รัฐบาลสิงคโปร์จึงให้ความสำคัญต่อภาคการค้าและบริการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนและส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทั้งด้านการค้า การลงทุน การเงิน ระบบสาธารณูปโภค ระบบการคมนาคมขนส่ง รวมทั้งมีท่าเรือน้ำลึกและการบริหารจัดการที่รวดเร็ว ส่งผลให้สิงคโปร์คงความเป็นตลาดเสรี เป็นศูนย์กลางของธุรกิจโลกทั้งด้านการค้า การลงทุน และการเงิน
นโยบายด้านการค้าการลงทุน เพื่อจูงใจให้มีการค้าการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีมากมายแก่นักลงทุนต่างชาติ และส่งเสริมให้ไปลงทุนในต่างประเทศ เช่น ไม่เรียกเก็บ Capital Gain Tax อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียงร้อยละ 17 และใช้ระบบ Single Tier System คือจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลถือเป็นภาษีสุดท้าย ฯลฯ อย่างไรก็ดี กิจการที่รัฐบาลไม่อนุญาตให้ต่างชาติลงทุน ได้แก่ ธุรกิจด้านกฎหมาย การประกอบอาชีพทนายความ กิจการที่เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์มีความเข้มงวดกับมาตรการสุขอนามัยของสินค้าที่นำเข้าเพื่อจำหน่ายและบริโภคในสิงคโปร์มาก ส่วนปัญหาและอุปสรรคทางการค้าของไทย คือ รัฐบาลสิงคโปร์อนุญาตให้แรงงานไทยเข้าไปทำงานในภาคบริการ ซึ่งจะมีการให้ใบอนุญาต 3 แบบ คือ 1) E Pass ใบอนุญาตทำงานระดับวิชาชีพ และระดับบริหาร 2) S Pass ใบอนุญาตทำงานสำหรับแรงงานฝีมือระดับกลาง 3) Work Permit ใบอนุญาตทำงานประเภทกึ่งฝีมือและแรงงานมีฝีมือน้อย ซึ่งในส่วนนี้ไทยได้รับอนุญาตให้ทำงานเพียง 3 สาขา จากจำนวน 5 สาขาที่อนุญาตให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงาน คือ ก่อสร้าง อู่ต่อเรือ และงานรับใช้ในบ้าน และไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในการผลิตและบริการ
ไทย มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ตลาดในประเทศตื่นตัว แรงงานมีฝีมือ มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งที่ทันสมัย การคมนาคมและโครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศก้าวหน้า
นโยบายการค้าการลงทุน รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายโดยมุ่งเน้นการเปิดเสรีและส่งเสริมการค้าเสรี ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศที่นำไปสู่การพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างจริงจัง โดยได้รับการจัดอันดับจากผลสำรวจนานาชาติให้เป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่น่าดึงดูดที่สุดแห่งหนึ่งอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและชักจูงอุตสาหกรรม 6 สาขาหลัก ได้แก่ เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร พลังงานทดแทน ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แฟชั่น และบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมบันเทิง บริการเพื่อสุขภาพ และการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ออกนโยบายเร่งส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ ด้วยการปรับปรุงกฎ ระเบียบ และปฏิรูปกฎหมายหลายฉบับเพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้า แต่ยังคงไว้ซึ่งมาตรการจำกัดการเข้าสู่ตลาดและการปฏิบัติเยี่ยงชาติ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนของต่างชาติ ซึ่งต้องเร่งแก้ไขให้เป็นไปตามพันธกรณีที่ตกลงไว้ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน นอกจากนี้ยังมีมาตรการทางการค้าและมาตรการที่มิใช่ภาษีที่ใช้สำหรับปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค แต่ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน มาตรการทางการค้าของไทยส่วนใหญ่ได้ถูกขจัดไปหมดแล้วเมื่อปี 2553 ยกเว้นสินค้าบางรายการที่เป็นสินค้าอ่อนไหวสูงเช่นเดียวกับประเทศสมาชิกอื่นๆ
เวียดนาม รัฐบาลประกาศใช้นโยบายทางเศรษฐกิจ “โด่ย เหมย” โดยกำหนดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ 6 ประการเพื่อยกระดับการเติบโตทางเศรษกิจ ได้แก่ การกระจายอำนาจบริหารแก่ภาคธุรกิจและท้องถิ่น ระบบเศรษฐกิจเสรี อัตราการแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ยเป็นไปตามกลไกตลาด ให้สิทธิครอบครองที่ดินในระยะยาวและเสรีการซื้อขายสินค้าเกษตร เพิ่มบทบาทภาคเอกชน เปิดเสรีการลงทุน โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะเวลา 10 ปี (2554-2563) กำหนดเป้าหมายที่จะทำให้เวียดนามเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ทันสมัยภายในปี 2563
นโยบายการค้าการลงทุน เน้นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรี ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเวียดนามประสบความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ รัฐบาลมีการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบทางการค้าและการลงทุนให้เกิดความคล่องตัว สอดคล้องกับมาตฐานสากล โดยกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้น และปรับเปลี่ยนนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ จากกิจการร่วมทุนมาเป็นกิจการที่ลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดมากขึ้น โดยภาคธุรกิจที่รัฐบาลเวียดนามให้การสนับสนุน ได้แก่ การท่องเที่ยว การขนส่ง ลอจิสติกส์และการบริการท่าเรือ และภาคการเกษตร รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ นอกจากนี้ เวียดนามยังเตรียมการปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีอย่างจริงจังเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ AEC อย่างไรก็ดี มาตรการของเวียดนามที่อาจจะส่งผลกระทบต่อไทย คือ ระเบียบการควบคุมความปลอดภัยด้านอาหารสำหรับสินค้าอาหารที่มีแหล่งกำเนิดจากพืช เนื่องจากครอบคลุมผลไม้สดของไทย
------------