xs
xsm
sm
md
lg

ยกระดับผ้าทอกะเหรี่ยง ชูจุดขาย “กะเหรี่ยงโกอินเตอร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดก.อุตสาหกรรม เยี่ยมชมการทอผ้าในงานเปิดตัวครั้งแรกของโครงการ
ผ้าทอกะเหรี่ยง สินค้าพื้นบ้านของชนเผ่าปกากะญอ ซึ่งเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงในจังหวัดตาก และความงดงามอันเป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอ ทำให้นักท่องเที่ยวที่ได้มีโอกาสไปท่องเที่ยวมักจะซื้อผ้าทอกะเหรี่ยงกลับมาเป็นของฝาก และด้วยความงดงามอันเป็นเอกลักษณ์นี่เองได้เป็นที่มาของแนวคิดการพัฒนาและยกระดับผ้าทอกะเหรี่ยงขึ้นมาในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ต่างๆ
ของแต่งบ้านทำจากผ้าทอกะเหรี่ยง
ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ผ้าทอกะเหรี่ยงเป็นภูมิปัญญาการทอผ้ากี่เอว ด้วยเทคนิคที่มีเอกลักษณ์เฉพาะชาวกะเหรี่ยงเผ่าปกากะญอ ซึ่งเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงในจังหวัดตาก มีการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวด้วยการทอผ้า ที่เรียกว่า การกี่เอว ซึ่งเป็นวิธีการทอผ้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์สูง มีการสืบทอดมายาวนานกว่าร้อยปี โดยครั้งเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ได้มีพระราชดำรัสให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมสนับสนุนและส่งเสริมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผ้ากะเหรี่ยง เพื่อการรักษาไว้ซึ่งศิลปะการทอผ้าด้วยกี่เอวที่ถือว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะแห่งเดียวในโลก พร้อมมุ่งหวังให้ราษฎรกะเหรี่ยงเกิดการอนุรักษ์วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และมีรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน

ดังนั้น เพื่อเป็นการ “สร้าง และกระตุ้น” ให้ราษฎรกะเหรี่ยงเกิดความตระหนัก ความรัก ความหวงแหน ในการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไว้ พร้อมทั้งสามารถนำทรัพย์สินทางปัญญานั้นมาสู่การพาณิชย์ เพื่อเป็นการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้มีการพัฒนาศักยภาพผ้าทอกะเหรี่ยงด้วยแนวคิด “การตลาดนำการผลิต”
นางแบบในชุดที่ตกแต่งด้วยผ้าทอกะเหรี่ยง
สำหรับการทำงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในการเข้าไปพัฒนาผ้าทอกะเหรี่ยงนั้นได้เริ่มทำกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 จนมาถึงขณะนี้เป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี โดยเข้าไปพัฒนาในเรื่องของการผลิตผ้าทอออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สามารถนำมาวางจำหน่ายได้ตรงตามความต้องการของตลาด รวมถึงการทำการตลาดแบบครบวงจร ซึ่งสร้างการรับรู้ให้แก่บุคคลทั่วไป และยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ผ้าทอ โดยรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่ทาง กสอ.ได้เข้าไปพัฒนา ประกอบด้วย เสื้อผ้าในรูปแบบที่เป็นสากล เครื่องประดับตกแต่ง กระเป๋า ของใช้บนโต๊ะอาหาร หมอน และตุ๊กตานานาชนิด ซึ่งการทำงานครั้งนี้ได้ดีไซเนอร์จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาช่วยด้านงานออกแบบ โดยจุดมุ่งเป้าเพื่อให้สินค้ามีความเป็นอินเตอร์ และต้องการจะแสดงศักยภาพของผ้ากะเหรี่ยงให้เป็นที่ยอมรับพร้อมแข่งขันในตลาดโลกด้วย
ผ้าทอที่ถูกออกแบบโดยดีไซเนอร์
ทั้งนี้ การทำงานในครั้งนี้ กสอ.ได้นำกุญแจความสำเร็จ 9 ขั้นตอนเข้าไปส่งเสริมและพัฒนาผ้าทอกะเหรี่ยงสู่ผลลัพธ์ที่ได้ ได้แก่ 1. ปรับพื้นฐานความรู้ สู่การสร้างความพร้อม 2. การอบรมเพิ่มทักษะด้านการบริหารจัดการ ในหลักสูตร “การเพิ่มทักษะการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชน” 3. การอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหลักสูตร “เทคนิคการย้อมสีธรรมชาติ” เพื่อสร้างจุดขายให้แก่สินค้า 4. ศึกษาดูงานในอุตสาหกรรมใกล้เคียงที่ประสบความสำเร็จจากการส่งเสริมโดย กสอ. ณ จังหวัดเชียงใหม่ และสุโขทัย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ 5. การอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหลักสูตร “เทคนิคการเคลือบสีและลดการตกของสี” เพื่อสร้างจุดเด่น ลบจุดด้อยของสินค้า

และ 6. การอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหลักสูตร “การเพิ่มทักษะด้านการทอด้วยกี่เมือง” เพื่อสร้างความชำนาญรองรับความต้องการจำนวนมากของผู้บริโภค 7. การอบรมเพิ่มทักษะด้านการตัดเย็บ เป้าหมายสู่การสร้างความหลากหลายของสินค้า 8. ทดลองตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าทอกะเหรี่ยง เพื่อฟังกระแสของผู้บริโภคในโค้งสุดท้ายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดสูงสุด 9. ขั้นสุดท้ายกับการพัฒนาการออกแบบและจัดทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากผ้าทอกะเหรี่ยง สู่การวางเป้าหมายตลาดให้เป็นผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้า กระเป๋า ของใช้ และผลิตภัณฑ์ Home Textile ที่ใช้ได้ทุกวัน สำหรับลูกค้าระดับกลาง ประชาชนทั่วไป และเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้น

การทำงานในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (สสท.) อีกทั้งยังได้นักออกแบบชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่นมาร่วมออกแบบเสื้อผ้าสำหรับสุภาพสตรี เช่น ชุดเดรส เสื้อคลุมสไตล์ญี่ปุ่น และของใช้สำหรับผู้ชาย ได้แก่ กระเป๋าเดินทาง และหมวก ฯลฯ

สำหรับผู้สนใจสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากผ้าทอกะเหรี่ยงได้ที่ร้านภูฟ้า ในโครงการส่วนพระองค์ฯ จำนวน 16 สาขาทั่วประเทศ หรือโทร. 0-2202-4414

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
กำลังโหลดความคิดเห็น