xs
xsm
sm
md
lg

หนุน SMEs เปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ “สีเขียว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อีกบทพิสูจน์การจัดการขององค์กรที่เกี่ยวข้องในวงการอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเป็นห่วงโซ่อุปทานสีเขียว กับ “ โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์สีเขียว” โดยประเทศไทยเป็น 1 ใน 19 ประเทศที่สหภาพยุโรปให้ความร่วมมือ
ปัจจุบัน ประเทศไทยยังเป็นฐานการผลิตรถยนต์และส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน จึงเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอื่นๆ กว่า 160 สาขา เช่น เหล็ก พลาสติก ยาง อิเลกทรอนิกส์ แต่ที่ผ่านมาผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายย่อย (ขั้นที่ 2 และ 3) ใช้กระบวนการผลิตที่ไม่ทันสมัย ทำให้ใช้พลังงานในการผลิตสูง และยังก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
แนวคิดจัดการห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chains Management) กับ “โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์สีเขียว
แนวคิดจัดการห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chains Management) กับ “โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์สีเขียว” ให้มุ่งไปสู่การประเมินผลและการเพิ่มประสิทธิภาพจึงวางแนวทางปฏิบัติโดยการฝึกอบรมและปฏิบัติในโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย จำนวน 500 แห่ง เมื่อโครงการฯ สิ้นสุดลงในเดือนมกราคม 2558 โดยได้งบประมาณสนับสนุนส่วนใหญ่จากสหภาพยุโรป (EU) ผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกับ สถาบันยานยนต์, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และศูนย์เพื่อการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน
ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี
ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการฯ นี้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของกระทรวงอุตสาหกรรมในการเป็นฐานการผลิตสีเขียวที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียภายในปี 2557 ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องส่งเสริมเพื่อให้มีกระบวนการผลิต และการบริหารจัดการที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จะร่วมกับโครงการฯ ผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยก้าวไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry Mark) โดยการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้พัฒนากระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานทั้งในระดับประเทศและสากลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คาดว่าในระยะเริ่มต้นผลผลิตและคุณภาพของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อย่างน้อยครึ่งหนึ่งจาก 500 แห่งที่มาร่วมโครงการฯ จะมีกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นโดยก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง และในขณะเดียวกันก็ใช้พลังงานต่อหน่วยลดลง”
แอททีล่า ยีไตร รองหัวหน้าคณะผู้แทน สหภาพยุโรปประจำประเทศไทย บอกว่า โครงการฯ อยู่ภายใต้โปรแกรมหลัก SWITCH-Asia ที่สหภาพยุโรปร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียรวม 19 ประเทศ เพื่อส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน
“โครงการฯ จะดำเนินงานเป็นระยะเวลา 3 ปี สนับสนุนการปฏิบัติของเครื่องมือด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานที่จะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต โดยเน้นการจัดฝึกอบรมและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับมาตรการการผลิตที่สะอาดและยั่งยืนแก่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ประมาณ 500 ราย”
รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกันจัดทำบทเรียนความสำเร็จไว้เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
ไตรศักดิ์ เลิศศักดิ์วัฒน ผู้อำนวยการใหญ่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย,พงษ์ศักดิ์ ชาเจียมเจน รองกรรมผู้จัดการ และรักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank),สุทธิยา จันทวรางกูร เจ้าหน้าที่โครงการ สหภาพยุโรปประจำประเทศไทย,ปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์แห่งประเทศไทย และ ทอร์สเท่น ฟริทเชอร์ ผู้อำนวยการโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพด้านพลังงานและทรัพยากร องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมลงนามในความร่วมมือ และเปิดตัว “โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์สีเขียว”
แนะรัฐแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน
ยงเกียรติ กิตะพาณิชย์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เห็นด้วยกับการสนับสนุนและเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เป็นสีเขียว แต่มองว่าทุกฝ่ายต้องให้การส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านงบประมาณสนับสนุน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าตระหนักมากเช่นกันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ คือด้านแรงงานที่มีโอกาสจะขาดแคลนในอนาคต เนื่องจากในปัจจุบัน มีแรงงานอยู่เพียง 400,000 คน ขณะที่ยอดการผลิตรถยนต์ มีแนวโน้มสูงขึ้นจากปัจจุบันที่ผลิตได้ 2,300,000 คันก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 3,000,000 ในอีก 2 - 3 ปี ข้างหน้า ดังนั้น ในอนาคตจะขาดแรงงานมากกว่า 200,000 คน จึงต้องการให้ภาครัฐตระหนักถึงปัญหาแรงงานในอนาคต พร้อมกับเร่งปรับปรุงหลักสูตรด้าน ปวช. และ ปวส. เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน รองรับต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมด้วย
ทางด้าน ชนาธิป สุรชัยสิทธิกุล นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย กล่าวเสริมว่าภายหลังการฟื้นฟูน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ถือว่าดีขึ้นตามลำดับ แต่ปัญหาใหญ่คือเรื่องการขาดแคลนแรงงาน ทำให้พิจารณาการนำเครื่องจักรที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการผลิต โดยสมาคมฯ ก็มีนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการชิ้นส่วนอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ทั้งเรื่องการจัดกิจกรรมสนับสนุน การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนา การศึกษาดูงานต่างประเทศ รวมถึงการจับคู่ธุรกิจ

กลุ่มเป้าหมาย ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ขั้นที่ 2 และ 3 ประมาณ 500 ราย

ผลที่คาดหวัง
-โรงงานของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ประมาณ 250 แห่ง ทำการปรับปรุง และมีการจัดการทรัพยากรการผลิต สิ่งแวดล้อม และพลังงานในกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
-โรงงานฯ สามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตสอดคล้องกับระบบมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานทั้งในระดับประเทศและสากล
-มีระบบความช่วยเหลือทางด้านการเงินที่สามารถสนับสนุนโรงงานฯ ที่ต้องการปรับปรุงกระบวนการผลิต
-ทำให้เครือข่ายห่วงโซ่อุปทานสีเขียวของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยมีความเข้มแข็ง
กำลังโหลดความคิดเห็น