ศูนย์วิจัยกสิกรไทยแสดงข้อมูลของมูลค่าการส่งออกล่าสุดในเดือน ต.ค. 2555 ซึ่งสามารถบันทึกอัตราการขยายตัวได้เป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 15.57 (YoY) ซึ่งแม้ว่าจะต่ำกว่าระดับที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ แต่ก็เป็นสัญญาณอันดีซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวโน้มการฟื้นตัวที่มีความมั่นคงมากขึ้นตามการปรับตัวดีขึ้นของสินค้าส่งออกสำคัญหลายรายการในกลุ่มสินค้าอุตสากรรมและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ขณะที่การนำเข้าซึ่งเร่งตัวขึ้นมากกว่าที่คาด โดยเฉพาะในหมวดสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ก็บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่มูลค่าการส่งออกของไทยจะเพิ่มระดับขึ้นในระยะถัดไป
สำหรับช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2555 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า แม้การส่งออกของไทยจะถูกกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกซึ่งอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงจากปัญหาเศรษฐกิจยูโรโซนที่คงไม่สามารถฟื้นคืนมาในระยะเวลาอันใกล้ แต่ผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปีก่อน และปัจจัยฤดูกาลที่เข้าสู่ช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองซึ่งจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศคู่ค้า ก็คงช่วยให้การส่งออกสามารถบันทึกอัตราการขยายตัวในระดับสูงกว่าร้อยละ 20 (YoY) ในไตรมาสสุดท้ายของปีได้ไม่ยากนัก
ทั้งนี้ สัญญาณด้านบวกที่อาจช่วยเสริมให้มูลค่าการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นในช่วงท้ายปี 2555 และหนุนภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2555 ให้ขยายตัวได้ใกล้เคียงหรือต่ำกว่าประมาณการกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 5.0 เล็กน้อย
สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย ซึ่งเริ่มปรากฏสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในไตรมาส 4/2555 ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคการส่งออก รวมไปถึงภาคการบริโภคในประเทศ ทั้งนี้ คาดว่าการฟื้นตัวดังกล่าวจะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงปี 2556 ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อสินค้าส่งออกหลายรายการของไทย ทั้งสินค้าเพื่อตอบสนองการบริโภคในประเทศ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า น้ำมันสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (เพื่อผลิตเอทานอล) และสินค้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตภาคอุตสาหกรรม เช่น ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
การขยายตัวของการค้าในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่เริ่มทยอยฟื้นตัวขึ้น ซึ่งเมื่อรวมกับภาพที่เศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของอาเซียนเริ่มมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น ก็น่าจะช่วยสนับสนุนทิศทางการค้าภายในภูมิภาคอาเซียนให้พลิกกลับมาขยายตัว และเสริมให้มูลค่าส่งออกสินค้าหลายรายการของไทย เช่น ยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ให้ปรับตัวดีขึ้นในระยะถัดไป
การฟื้นฟูความเสียหายจากพายุเฮอริเคนแซนดีในสหรัฐฯ ที่พัดถล่มพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของประเทศในช่วงปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาและสร้างความเสียหายต่อเขตเมืองสำคัญ เช่น นิวยอร์ก และนิวเจอร์ซีย์ค่อนข้างมาก และอาจมีผลต่อเนื่องที่ทำให้มูลค่าส่งออกสินค้าบางรายการที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ ลดระดับลงบ้างในช่วงแรก อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ภายหลังจากที่การสำรวจและประเมินความเสียหายสิ้นสุดลง พร้อมๆ กับกิจกรรมการฟื้นฟูและซ่อมแซมที่เริ่มต้นขึ้น น่าจะช่วยหนุนให้สินค้าส่งออกของไทยบางประเภทไปยังสหรัฐฯ สามารถเติบโตได้ในอัตราเร่ง ไม่ต่างจากช่วงที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือน มี.ค. 2554 ที่ผ่านมา