เหล่ากูรูแวดวง บลจ.รวมถึงนักวิเคราะห์ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2556 เอเชีย-ตลาดเกิดใหม่สดใส ส่วนสหรัฐฯ หากผ่าน Fiscall Cliff ไปได้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อแน่ พร้อมมองยุโรปอาการหนักหลังแก้ปัญหายังไม่ตรงจุด
นางสาวพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาค และจุลภาค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มจะฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย ซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายตัวก็ดีขึ้นในรอบ 4 ปี ซึ่งเราประเมินว่าหากหน้าผาการคลัง หรือ Fiscall Cliff ไม่รุนแรงเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเดินหน้าไปต่อได้ ขณะเดียวกัน ปัจจัยบวกเล็กน้อยในปี 2556 ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นก็คือการฟื้นฟูหลังความเสียหายจากพายุเฮอริเคนที่ประเมินไว้ประมาณ 35,000-46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรวมทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2556 จะดีขึ้นกว่าในปีนี้อย่างแน่นอน แต่ยังต้องจับตาระวังปัจจัยลบด้วยเช่นกัน เช่น การลดอันดับความน่าเชื่อถือ
ทางด้านกลุ่มอียูนั้นเรามองว่ายังเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังแก้ไม่ได้และอาจจะต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาค่อนข้างนาน ซึ่งมาตรการต่างๆ เช่น มาตรการกองทุนรักษาเสถียรภาพเงินยุโรป แม้จะมีกลไกในการรักษาและออกมารองรับปัญหาแต่ความกังวลที่เกิดขึ้นคือกองทุนจะเริ่มมีการอัดฉีดเม็ดเงินได้เร็วสุดเมื่อไร ขณะที่เงินกองทุนประมาณ 500,000 ล้านยูโรนั้นอาจจะช่วยกรีซได้เพียงประเทศเดียว แต่ไม่สามารถจะช่วยอิตาลี และสเปนได้ เนื่องจากเงินในกองทุนไม่เพียงพอ ซึ่งเรามองว่าปัญหาเหล่านี้จะส่งผลให้การฟื้นตัวของยุโรปอาจต้องใช้เวลานาน โดยการแก้ปัญหาที่ผ่านมาทั้งหมดเหมือนเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือผลักดันปัญหาที่เกิดขึ้นออกไป
นางสาวพิมลวรรณกล่าวต่อว่า ในส่วนของประเทศไทยนั้นต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักประมาณ 60-70% ต่อ GDP แน่นอนว่าการเกิดปัญหาเศรษฐกิจโลกประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกัน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่อัดฉีด เช่น รถยนต์คันแรก บ้านหลังแรก รวมถึงการจำนำข้าว ส่งผลให้ภาพรวมมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ค่อนข้างเติบโต แต่ปีหน้านั้นอาจจะต้องตามดูว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไปจะเป็นอย่างไร
นายอดิเทพ วรรณพฤกษ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการลงทุน บลจ.อเบอร์ดีน (ประเทศไทย) กล่าวว่า นักลงทุนควรระมัดระวังการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เพราะปริมาณเงินที่ไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียอาจจะก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่ได้
“การที่สหรัฐอเมริกาพิมพ์เงินออกมา สุดท้ายเงินจะไหลไปหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดี ซึ่งอาจจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือหุ้น จนทำให้ราคาสินทรัพย์เหล่านั้นปรับเพิ่มขึ้นเกินกว่าที่ควรเป็น ซึ่งเชื่อว่าธนาคารกลางทั่วโลกจับตาในประเด็นนี้อยู่ แต่เราไม่มีทางรู้ว่ามันเกิดฟองสบู่หรือไม่ จนกว่าฟองสบู่มันจะระเบิดขึ้นมา”
อย่างไรก็ตาม หุ้นในไทยบางตัวราคาแพงเกินไปแล้ว เช่น หุ้นบางตัวในกลุ่มธนาคาร และอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ แม้หุ้นบางตัวราคาอาจจะปรับเพิ่มขึ้นไปมากแล้ว แต่จะบอกได้ว่าแพงเกินไปแล้วหรือไม่ต้องพิจารณาราคาต่อกำไร (พีอี) ควบคู่กับการทำกำไรและอัตราการเติบโต ต้องระวังและรู้ว่าเราซื้อที่พีอีระดับไหน อัตราการเติบโตเป็นอย่างไร ตัวอย่างเช่น ถ้าหุ้นมีพีอี 20 เท่า แต่ยังมีโอกาสเติบโต 15-20% และมีการจ่ายเงินปันผลก็อาจจะเป็นหุ้นที่ดีก็ได้
ทางด้านนายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา กรรมการผู้จัดการ กลุ่มจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้คือ การเกิดฟองสบู่ในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด และเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีความกังวลในประเด็นนี้อยู่เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ปริมาณเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาในประเทศ ซึ่งมีประมาณ 7 แสนล้านบาทในช่วงที่ผ่านมาคงเป็นเรื่องหนักใจสำหรับทางการไทยที่เป็นห่วงว่าจะเกิดฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆ