xs
xsm
sm
md
lg

สสว.จับมือ KOSGEB มุ่งขยายโอกาส SMEs ไทย-ตุรกี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผอ.สสว.)
สสว.จับมือ KOSGEB แห่งตุรกี สนับสนุน SMEs ภายใต้แผนปฏิบัติการความร่วมมือด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร จัด Business Matching และตั้งศูนย์ปรึกษาทางธุรกิจ มุ่งเป้าหมายเพื่อขยายโอกาส SMEs เข้าสู่ตลาดของทั้ง 2 ฝ่าย และกลุ่ม AEC นำร่อง 3 อุตสาหกรรมสำคัญ ทั้งกลุ่มสิ่งทอ สปา และ IT เชื่อมั่นจะเป็นกลไกขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ให้เชื่อมเข้าสู่ Global Supply Chain

นายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ได้ดำเนินการลงนามกรอบความร่วมมือระหว่าง สสว. กับองค์การพัฒนา SMEs แห่งตุรกี (Small and Medium Enterprises Development Organization, Republic of Turkey: KOSGEB) และการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนงานส่งเสริมเครือข่าย SMEs ไทย-ตุรกี ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการสร้างโอกาสเชิงธุรกิจในไทย ตุรกี และกลุ่มประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) รวมถึงมาตรการสนับสนุนของภาครัฐต่อการพัฒนาเครือข่าย SMEs ไทย-ตุรกี

กิจกรรมความร่วมมือระหว่าง สสว. กับ KOSGEB ในครั้งนี้นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ในการร่วมกันส่งเสริม SMEs ของทั้ง 2 ประเทศ โดยสนับสนุนการสร้างเครือข่ายระหว่าง SMEs ครอบคลุมการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ข้อมูล คำแนะนำทั้งด้านการตลาด เทคนิคการทำธุรกิจ การแลกเปลี่ยนการเยี่ยมชมกิจการของ SMEs ระหว่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่การส่งเสริมให้ SMEs ไทยเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับโลก” รักษาการ ผอ.สสว.กล่าว

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้จะมีการจัดทำแผนปฏิบัติการความร่วมมือระหว่าง สสว. กับ KOSGEB โดยจัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อดำเนินการตามแผนงานและติดตามผลการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว จะมีการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือ ได้แก่ 1. การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทั้งในรูปแบบของเว็บไซต์ การประชุมสัมมนาและ Workshop กับผู้เชี่ยวชาญ ที่ครอบคลุมทั้งการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ การให้ความรู้เกี่ยวกับบรรยากาศการค้าการลงทุน โอกาสทางการตลาดของแต่ละฝ่าย ทำ workshop ในเรื่อง best practice ของกันและกัน รวมถึงการเยี่ยมชมกิจการระหว่างกันเพื่อส่งเสริมให้เกิด Joint Venture 2. การจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) โดยการจัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการในงานแสดงสินค้าของแต่ละฝ่ายโดยไม่คิดมูลค่า จัด Business Trip ของ SMEs ในลักษณะต่างตอบแทน 3. จัดตั้งศูนย์สนับสนุนธุรกิจ เช่น จัดหาข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจ จัดการประชุม จัด Business Matching

ทั้งนี้ การสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ SMEs ไทย-ตุรกี เพื่อขอรับการส่งเสริมสนับสนุนจาก สสว. และ KOSGEB กำหนดกิจกรรมนำร่องใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มสิ่งทอ กลุ่มสปา และกลุ่ม IT โดยมีแผนจะดำเนินการในเรื่องการพบปะผู้เชี่ยวชาญของตุรกีเกี่ยวกับโอกาสทางการตลาด แนวทางแก้ปัญหาของกลุ่ม SMEs ไทย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตุรกี และเชื่อมโยงให้พบกับคู่ค้าที่เหมาะสม รวมทั้งจัด Business Trip เพื่อให้ SMEs ของทั้ง 2 ประเทศได้มีโอกาสในการเจอคู่ค้า และการเข้าสู่ Global Supply Chain

สำหรับประเทศตุรกีนับว่ามีบทบาทในเชิงเศรษฐกิจ ทั้งขนาดของ GDP ที่ใหญ่เป็นอันดับ 15 ของโลก เป็นสมาชิกก่อตั้งของ OECD กลุ่ม G20 และเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ EU Customs Union โดยถูกจัดให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ รวมถึงระบบเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ ที่สำคัญมีที่ตั้งที่นับเป็นยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากอยู่กึ่งกลางระหว่างเอเชีย ยุโรป และอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งไทยสามารถใช้เป็นประตูการค้าไปยังกลุ่มประเทศบอลข่าน ยุโรปตะวันออก สหภาพยุโรป ฯลฯ จึงนับเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการ SMEs ไทย

เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับตุรกี พบว่ามีมานานและมีการเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งในระดับรัฐบาลและระดับเอกชน โดยความสัมพันธ์เชิงการค้าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2548-2552) พบว่าการค้าระหว่างไทย-ตุรกีมีมูลค่าโดยเฉลี่ย 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี คาดว่าในปี 2012 จะมีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ซึ่งไทยได้ดุลการค้ามาโดยตลอด เฉลี่ยปีละไม่น้อยกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าไทยที่ส่งไปขายในตุรกีลำดับต้นๆ ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ ยางพารา เครื่องปรับอากาศประเภทติดผนัง ฯลฯ ส่วนสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากตุรกี ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ ฯลฯ แม้มูลค่าการค้ายังไม่มากนักแต่สะท้อนได้ว่า SMEs ไทยยังมีโอกาสทางการค้าการลงทุนที่จะสามารถพัฒนาต่อไปได้อีกมาก นอกจากนี้ไทยยังได้รับสิทธิพิเศษ GSP มาโดยตลอด

ในส่วนองค์การเพื่อการพัฒนา SMEs แห่งตุรกี (Small and Medium Enterprises Development Organization, Republic of Turkey : KOSGEB) อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1990 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายส่วนแบ่งของ SMEs และเพิ่มประสิทธิภาพของ SMEs ปรับปรุงเพิ่มพูนอำนาจในการแข่งขันและยกระดับการแข่งขันของ SMEs รวมทั้งดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งการบูรณาการทางอุตสาหกรรมในลักษณะที่สอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุความต้องการทางสังคม และเศรษฐกิจของตุรกี

การสนับสนุนและบริการต่างๆ ของ KOSGEB แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1. ให้การสนับสนุนภายในขอบข่ายของ “Support Programs Regulation” 2. ให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน (ดอกเบี้ยสินเชื่อ) ของ KOSGEB 3. บริการด้านห้องแล็บ โดยมีความชำนาญพิเศษในด้านโลหะ พลาสติก ยาง สิ่งทอ และสิ่งแวดล้อม 4. สนับสนุนด้านข้อมูลข่าวสาร และให้คำแนะนำ
กำลังโหลดความคิดเห็น