ก.อุตสาหกรรม คลัง มหาดไทย และไอซีที ผนึกกำลังผุดโครงการ OTOP Plus ต่อยอดสินค้าโอทอปแบบครบวงจร ทั้งการผลิตจนถึงการตลาด หนุนสินค้าระดับชุมชนสู่ตลาดอินเตอร์ นายกฯ ชี้เป็นแนวทางทำงานแบบบูรณาการ ส่งเสริมครบวงจรตั้งแต่ต้น กลาง และปลายน้ำ ตั้งเป้าเบื้องต้นยกระดับโอทอปสำเร็จกว่า 200 ราย เพิ่มมูลค่าตลาดไม่น้อยกว่า 20%
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในการเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการยกระดับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์แบบบูรณาการ (OTOP Plus) ว่า โครงการดังกล่าวเป็นการทำงานอย่างบูรณาการของ 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อช่วยเหลือและยกระดับผู้ประกอบการสินค้าโอทอปแบบครบวงจร ตั้งแต่ด้านการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ การผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการตลาด เพื่อให้สินค้าจากระดับชุมชนไปสู่ตลาดระดับสากล
“ดิฉันอยากเห็นการทำงานแบบบูรณาการเพื่อจะส่งเสริมโอทอปอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ คือพัฒนาตั้งแต่แหล่งผลิตจนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งโครงการ OTOP Plus จะเข้ามาช่วยยกระดับโอทอปในรูปแบบ One stop service ด้วยการใช้เอกลักษณ์ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา มาเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี ระบบบริหารจัดการ หรือนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อให้สินค้าโอทอปสามารถขยายตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนั้น ทางรัฐบาลยังฝากให้ทูตการค้าไปขยายการค้าให้สินค้าโอทอปในทุกประเทศด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยจากระดับรากฐาน” นายกฯ กล่าว
ด้านนายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวทาง สสว.ได้ริ่เริ่มขึ้น และรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพโครงการในการประสานความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการให้ส่งเสริมและพัฒนาโอทอป โดยเป็นความร่วมมือใน 7 หน่วยงาน ทั้งจากภาครัฐ และเอกชน ประกอบด้วย 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงไอซีที และภาคเอกชน คือ หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ การทำงานจะให้แต่ละหน่วยงานได้ทำหน้าที่ในส่วนที่ตัวเองมีความเชี่ยวชาญ เช่น กิจการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทางกระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด จะคัดเลือกผู้ประกอบการโอทอปในพื้นที่ที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการเพื่อยกระดับต่อยอด ไม่น้อยกว่า 2 รายต่อจังหวัด รวมทั้งหมดไม่น้อยกว่า 200 ผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการกว่า 200 ราย
ขณะเดียวกัน จะร่วมกับสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นผู้พัฒนาทั้งองค์ความรู้ การจัดการสมัยใหม่ พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยเชื่อมโยงวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย
นอกจากนั้น ด้านการตลาด บูรณาการความร่วมมือกับองค์การตลาด บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด กระทรวงการคลัง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (CAT) หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เพื่อจะเป็นเครือข่ายในการกระจายสินค้า และเพิ่มช่องทางตลาดให้แก่สินค้าโอทอป ได้แก่
องค์การตลาด จะนำสินค้าโอทอปที่เข้าโครงการวางขายแบบถาวรผ่านร้าน “โอทอปชุมชนยิ้ม” ซึ่งเป็นร้านขายสินค้าที่คนในชุมชนร่วมเป็นเจ้าของ เบื้องต้นจะนำร่องจำนวน 10 สาขาครอบคลุมทุกภาคของประเทศ และมีแผนงานที่จะขยายไปเป็น 500 สาขาในอีก 3 ปีข้างหน้า
ส่วนบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จะทำหน้าร้านออนไลน์ให้ที่เว็บไซต์ www.postshop.co.th และการสั่งซื้อสินค้าโอทอปผ่าน Call Center 1545 รวมถึงใช้เครือข่ายไปรษณีย์ทั่วประเทศช่วยด้านระบบ Logistic ขณะที่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (CAT) จะร่วมดำเนินการจัดทำ QR Code ให้สินค้าโอทอป และพัฒนาเว็บไซต์ให้จำนวนไม่น้อยกว่า 800 ราย
นอกจากนั้น บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด จะเป็นหน่วยงานหลักในการตรวจวิเคราะห์เพื่อรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์โอทอปที่เข้าร่วมในโครงการ ส่วนหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจะร่วมดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการตลาดให้สินค้าโอทอป อาศัยเครือข่ายสมาชิกทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และ บมจ.อสมท จะช่วยทำประชาสัมพันธ์นโยบายการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอป เป็นต้น
นายชาวันย์ระบุด้วยว่า โครงการความร่วมมือครั้งนี้ เบื้องต้นตั้งเป้าให้เกิดการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการโอทอปจากระดับท้องถิ่นสู่ตลาดสากลไม่น้อยกว่า 200 ราย และสินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 อีกทั้งผู้ประกอบการโอทอปมีเว็บไซต์เป็นของตนเองเพื่อใช้เป็นช่องทางขยายตลาดไม่น้อยกว่า 800 ราย