xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ปลุกเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เปิดตัวสุดยอดนักออกแบบนวัตกรรมดีเด่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลูกเดือยกรอบ” ผลงานจากวิสาหกิจชุมชนบ้านธัญญาทิพย์
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ร่วมกับบริษัท ไอดีไซน์พับลิชชิ่ง จำกัด จับมือศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) เผยผลรางวัลการออกแบบเชิงนวัตกรรม ประจำปี 2555 (Design Innovation Contest, DIC2012)” ครั้งที่ 5 พบอาหารสุขภาพและผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมมาแรง

นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. เปิดเผยว่า การประกวดรางวัลการออกแบบเชิงนวัตกรรม ประจำปี 2555 นี้ นอกจากจะเป็นการประกาศเกียรติคุณผู้ซึ่งได้ออกแบบ คิดค้น และรังสรรค์ผลงานออกแบบเชิงนวัตกรรมที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแล้ว ยังเป็นตัวเร่งให้เกิด “วัฒนธรรมนวัตกรรม” ขึ้นในองค์กรอีกทางหนึ่งด้วย โดยได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 แล้ว และมีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวนทั้งสิ้น 92 ผลงาน ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วเกือบเท่าตัว

สำหรับผลการประกวดในปีนี้ ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านการออกแบบอาหาร ได้แก่ “ลูกเดือยกรอบ” ผลงานจากวิสาหกิจชุมชนบ้านธัญญาทิพย์ ถือเป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านผลิตภัณฑ์ลูกเดือยกรอบ โดยเริ่มต้นจากการคัดเลือกธัญพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ที่มีลักษณะโดดเด่น และเป็นที่ต้องการของตลาดโลก มาผสมผสานเข้ากับสมุนไพรไทยสดในกระบวนการผลิต ทั้งนี้ยังใช้น้ำมันน้อยแต่ใช้อุณหภูมิและเวลาเป็นตัวกำหนดเพื่อให้ได้ลูกเดือยกรอบที่ตอบสนองต่อคนรุ่นใหม่ คล่องตัวสูงและสะดวกต่อการบริโภค ทั้งนี้ยังมีสารอาหารที่มีประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการต่อร่างกาย
“SensibleTAB” หุ่นยนต์ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวแขน
ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ ได้แก่ “SensibleTAB” หุ่นยนต์ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวแขน บริษัท ทีเอ็มจีไอ จำกัด เป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวแขน ที่สามารถตอบสนองสัญญาณการเคลื่อนไหวตามหลักการ Sensory retraining ควบคู่การฝึกฝนการรับความรู้สึกแบบ Perfetti method โดยนักกายภาพบำบัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวแขนสำหรับผู้ที่ป่วยด้วยโรคอัมพาตครึ่งซีก และด้านการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ

ด้านนายสักกฉัฐ ศิวะบวร ประธานคณะทำงานตัดสินการประกวดฯ กล่าวว่า การออกแบบเชิงนวัตกรรมนั้นต้องอาศัยการผสมผสานกันระหว่างมุมมองด้านเทคโนโลยีและมุมมองของการสร้างสรรค์ โดยจะมีองค์ประกอบที่ขับเคลื่อนอยู่ 3 ส่วน คือ ส่วนเทคโนโลยี (technology) หมายถึงความเป็นไปได้ในเชิงวิชาการและวิศวกรรม ส่วนธุรกิจ (business) หมายถึงการอยู่รอดและการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน และส่วนมนุษย์ (human value) จะทำหน้าที่ในการตัดสินใจจากความพึงพอใจและประโยชน์ใช้สอยของผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งจะนำมาใช้เป็นกรอบและหลักเกณฑ์การพิจารณาตัดสินที่ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ 1. ระดับของการออกแบบและความใหม่ ที่แบ่งออกเป็นด้านการออกแบบอาหาร ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ และด้านการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม 2. ระดับกลยุทธ์ด้านธุรกิจ 3. การตลาดและกระบวนการบริหารจัดการ และ 4. ผลประโยชน์ที่ได้รับ

“สำหรับในปีนี้มีผู้สนใจส่งผลงานการออกแบบเชิงนวัตกรรมเข้าร่วมประกวดจำนวนทั้งสิ้น 92 ผลงาน แบ่งเป็น ด้านการออกแบบอาหาร 29 ผลงาน ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ 37 ผลงาน และด้านการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม 26 ผลงาน ซึ่งแต่ละผลงานก็มีความโดดเด่นที่แตกต่างกันไป จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพด้านการออกแบบไม่ด้อยไปกว่าชาติใดในโลก หากแต่ยังขาดโอกาสและการสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อผลักดันให้ธุรกิจเหล่านั้นเติบโตต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง” นายสักกฉัฐกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น