ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. (SACICT) เผยผลการจัดประกวดโครงการประกวดหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ หรือ Innovative Craft Award กลุ่มเครื่องจักสานและเครื่องปั้นดินเผา ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 200 ชิ้นงาน มีผลงานผ่านเกณฑ์ 15 ชิ้นงาน โดยรางวัลเครื่องปั้นดินเผาเป็นของ นางสาวกนกกัญญา รวมไมตรี กับผลงานชื่อ “Butterfly Vase” ส่วนเครื่องจักสาน รางวัลชนะเลิศได้แก่ นางวาสนา สายมา ผลงานชื่อ “โคมไฟรังนก”
นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ ศ.ศ.ป. (SACICT) เปิดเผยว่า จากการที่ ศ.ศ.ป.ได้จัดให้มีการประกวด “โครงการประกวดหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และขยายช่องทางการตลาดหัตถกรรมในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมบุคลากร (ครูช่าง หรือช่างฝีมือ) ในท้องถิ่นที่มีทักษะฝีมือในงานหัตถกรรม ด้านเครื่องจักสาน และเครื่องปั้นดินเผา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงงานทั้งในเชิงอนุรักษ์และงานสมัยใหม่ให้สามารถออกสู่ตลาดสากลได้
“หลังจากการจัดกิจกรรมเพื่อรับสมัครผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจากทั่วทั้ง 4 ภูมิภาค จนได้ผลงานจากทั่วประเทศจำนวน 200 กว่าชิ้น จนที่สุดได้ผลงานที่เข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 30 ชิ้นงาน โดยแบ่งเป็นเครื่องปั้นดินเผา 15 ชิ้น และเครื่องจักสาน 15 ชิ้น ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีและยังแสดงให้เห็นว่ามีคนที่เห็นคุณค่าความสำคัญของงานหัตถกรรมไทยอยู่อีกมากมาย โดยใช้ประโยชน์จากวัสดุธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนมาผสมผสานกับเทคโนโลยีการผลิตและการออกแบบสมัยใหม่ และสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้หลากหลายรูปแบบ มีประโยชน์ใช้สอยได้จริง และสามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดได้จนเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในตลาดได้ในอนาคต”
ทั้งนี้ ผลงานได้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ เช่น นางสุพัตรา ศรีสุข ที่ปรึกษาศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) นายสักกฉัฐ ศิวะบวร กรรมการผู้จัดการ บริษัทไอดีไซน์พับลิชชิ่ง จำกัด นางเยาวดี สินธุประมา ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมหัตถกรรม นายวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ นักออกแบบและผู้บริหารโรงงานเซรามิกเถ้าฮงไถ่ ราชบุรี นายเจรมัย พิทักษ์วงศ์ บรรณาธิการอำนวยการนิตยสารบ้านและสวน ฯลฯ ทั้งนี้ หลังจากการประชาสัมพันธ์รับสมัครกลุ่มผู้ผลิตงานหัตถกรรม กลุ่มนักออกแบบและผู้ประกอบการ รวมถึงกลุ่มนิสิตนักศึกษาทั่วทั้ง 4 ภูมิภาค ปรากฏว่ามีผู้ส่งผลงานทั้งสิ้น 214 ชิ้นงาน แบ่งออกเป็น เครื่องปั้นดินเผาจำนวน 127 ชิ้นงาน และเครื่องจักสานจำนวน 87 ชิ้นงาน และได้รับการคัดเลือกให้เข้ารอบตัดสินประเภทละ 15 ชิ้นงาน รวมเป็น 30 ชิ้นงาน
โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในประเภทเครื่องปั้นดินเผา ได้แก่ นางสาวกนกกัญญา รวมไมตรี กับผลงานชื่อ “Butterfly Vase” มีแนวคิดและที่มาจากการเรียงตัวของเกล็ดสีเล็กๆ นับล้าน นำมาจุดตกแต่งด้วยการจุดน้ำดินสีให้เกิดเป็นลวดลายของผีเสื้อ เป็นผู้คว้ารางวัล พร้อมด้วยเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท และเกียรติบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เป็นผลงานของ นายเอ็มโซเฟียน เบญจเมธา “อัญมณีสีดำ”แนวคิดจากการผสมผสานก่อเกิดศิลปะร่วมสมัยไทย-มลายูผ่านรูปทรง ลายอักษร ภาษาท้องถิ่น สีดำเงาของน้ำเคลือบสัมผัสถึงกลิ่นอายศิลปะสีสันของปลายด้ามกริชและสีสันของกรงนกศิลปะเชิงอนุรักษ์จากไม้ดำประจำถิ่น พร้อมด้ามจับโถสื่อเส้นสายศิลปะมลายูสร้างหัตถกรรมสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน เงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ผลงานของ นายประกรณ์ วิไล ผลงานชื่อ “ก้อนดิน” จากแนวคิดการนำก้อนดินมารังสรรค์ปั้นแต่ง ขึ้นรูปด้วยมือทีละเม็ด พร้อมการนำศาสตร์แห่งธาตุทั้ง 4 มาประยุกต์ใช้ แปรเปลี่ยนก้อนดินให้เป็นเครื่องประดับ เงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
สำหรับประเภทเครื่องจักสาน รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางวาสนา สายมา ผลงานชื่อ “โคมไฟรังนก” แนวคิดมาจากลักษณะกล้วยไม้ไอยเรศ ด้วยการนำไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ ขัดสานขึ้นลวดลายเป็นรูปดอกกล้วยไม้ชื่อไอยเรศ จากรูปลักษณ์ของความกลมเกลียวในตัวชิ้นงานได้นำมาเกาะเกี่ยวให้เกิดรูป ได้รับรางวัลเป็นเงินสดมูลค่า 50,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ผลงานของนายคมกฤช บริบูรณ์ ผลงานชื่อ “กล่อง 6”x 8”ลายน้ำไหล” เกิดจากแนวคิดที่อิงธรรมชาติและการนำ “สมุ” (ไม้ไผ่สาน) ซึ่งเป็นงานจักสานไม้ไผ่ทั่วไปผสานสีสันการไล่เรียงให้เหมือนสายน้ำไหลรองรับการใช้งานด้วยรูปแบบเรขาคณิต สามารถพัฒนารูปแบบการใช้งานให้เข้ากับยุคสมัยแต่ยังคงวัตถุดิบท้องถิ่นมาใช้ ได้รับเงินสดมูลค่า 30,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร และรองชนะเลิศอันดับที่ 2 นางสาวลัดดาวัลย์ มงคลวรรณ ผลงานชื่อ “ปากกาจักสานลายไทยสลักชื่อ” จากปากกาธรรมดา เพิ่มเติมความวิจิตรบรรจงด้วยการจักสาน หุ้มปากกาด้วยลายไทยสลักชื่อ แสดงถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยด้วยการนำไม้ไผ่ชิ้นเล็กๆ มาสานด้วยมือนั่นเอง ได้รับเงินสดมูลค่า 20,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร โดยผลงานของผู้ที่ได้รับรางวัลจะถูกนำไปแสดงภายในงาน BIG&BIH ระหว่างวันที่ 16-21 ตุลาคมนี้ด้วย