xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนกระทุ้งรัฐฯ หนุนธุรกิจโซลาร์เซลล์ เชื่อเสริมแกร่งอุตฯ ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แผงโซลาเซลล์ พลังงานจากแสงอาทิตย์
นายกสมาคมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย กระทุ้งรัฐฯ ตื่นสร้างมาตรการหนุนธุรกิจโซลาร์เซลล์ พร้อมเสนอเพิ่มปริมาณการผลิตเป็น 4,000-5,000 เมกะวัตต์ เชื่อแผนเดิมที่กำหนดไว้ 2,000 เมกะวัตต์หมดเกลี้ยงแน่ในอีก 2 ปี

นายดุสิต เครืองาม นายกสมาคมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกของประเทศไทยว่า แม้อนาคตธุรกิจพลังงานทางเลือกจะเข้ามามีบทบาทในเรื่องของพลังงานของประเทศ และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้พยายามผลักดันในเรื่องพลังงานทางเลือกกับทุกรัฐบาลมาโดยตลอด แต่พบว่าแม้ทุกเรื่องที่เสนอไปมีความสำเร็จในเวลาต่อมา แต่ก็ใช้เวลานานถึง 5-7 ปีจึงจะเห็นผลในการขับเคลื่อนทางฝ่ายภาครัฐที่มีต่อการสนับสนุนในอุตสาหกรรมนี้ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนและต่อเนื่องในเรื่องของนโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่

ดังนั้นจึงขอเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับธุรกิจเซลล์แสงอาทิตย์ โดยรัฐควรออกมาตรการจูงใจในการลงทุนและติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อขจัดปัญหาทางด้านการเปลี่ยนมือหรือการซื้อขายใบอนุญาตที่ได้รับ เพราะผู้ประกอบการไม่มีความพร้อมในเรื่องของทุน โดยเมื่อมีใบอนุญาตก็ขายต่อให้กับนักลงทุนต่างประเทศ พร้อมกับออกมาตรการรับซื้อไฟฟ้าราคาพิเศษ โดยต้องยืดระยะเวลาการรับซื้อให้ยาวออกไปอีก และน่าจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเลขการกำหนดพลังงานจากโซลาร์เซลล์ ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP) จาก 2,000 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 4,000-5,000 เมกะวัตต์ เพราะหากดูตามแผนเดิมที่กำหนดไว้คาดว่าภายในเวลา 2 ปีน่าจะหมด เนื่องจากขณะนี้พบว่าในระบบมีการดำเนินการในเรื่องของโซลาร์เซลล์มากขึ้น ซึ่งคาดว่าสิ้นปีน่าจะอยู่ที่ 400 เมกะวัตต์ และปลายปี 2556 จะเพิ่มเป็น 700-800 เมกะวัตต์ และปี 2557 น่าจะมีประมาณ 1,000 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังควรนำมาตรการทางภาษีมาจูงใจทั้งในส่วนของภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เช่น เอกชนที่ลงทุน 1 ล้านบาท ก็ให้นำมาคำนวณภาษีได้ 2 ล้านบาท ขณะที่บุคคลธรรมดาที่ลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์ก็ให้นำเงินลงทุน 5 แสนมาคำนวณในการลดภาษีได้ 5 ปี หรือนำมาลดหย่อนได้ ปีละ 100,000 บาท ซึ่งถ้าหากทำได้ก็จะสนับสนุนให้โซลาเซลล์ของประเทศมีการเติบโต รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากเดิมที่กำหนดว่า โรงไฟฟ้าขนาด 3.7 กิโลวัตต์จะต้องได้รับใบอนุญาตในการก่อสร้างโรงงาน โดยต้องแก้ไขระบุว่าเซลล์แสงอาทิตย์เล็กกว่า 1 เมกะวัตต์ไม่ต้องขอใบอนุญาต

“ขณะนี้ในประเทศไทยคิดว่ามูลค่าของธุรกิจโซลาร์เซลล์น่าจะอยูที่ 1.5 แสนล้านบาท โดยกว่า 99% เป็นโซลาร์ฟาร์ม และ 1% และทุกวันถือว่าการผลิตโซลาร์เซลล์ในประเทศมีเพิ่มมากขึ้นจาก 7-8 ปีประเทศไทยยังไม่มีเลย ดังนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วรัฐบาลจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ในเรื่องของการรับซื้อไฟฟ้า (แอดเดอร์) จากปัจจุบันที่ซื้อในราคา 8 บาท และอนาคตจะมีการเปลี่ยนเป็นฟีดอินทารีฟ (Feed In Tariff) หรือการรับซื้อในราคาต้นทุนจริงๆ ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศอัตราในการรับซื้อในอีก 2-3เดือนข้างหน้า” นายกสมาคมเซลล์แสงอาทิตย์ไทยกล่าว

นายดุสิตกล่าวว่า หากประเทศไทยมีโซลาร์ฟาร์มที่เติบโตก็จะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเติบโตตามด้วย เช่น ธุรกิจเหล็กเพราะโซลาร์ฟาร์มใช้เหล็กเป็นองค์ประกอบเป็นจำนวนมาก และยังมีธุรกิจสายไฟ เซอร์กิตเบรกเกอร์ ซิลิกอน ฟิล์ม การผลิตกระจก แบตเตอรี่ และธุรกิจที่ปรึกษาเกิดขึ้นตามมาอีกมาก ดังนั้นจึงอยากเห็นนโยบายและความชัดเจนในธุรกิจพลังงานทางเลือกของรัฐบาลเพราะก่อนหน้านี้ธุรกิจนี้เกิดการชะงักงันมาแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น