ด้วยสภาพภูมิประเทศของ อ.ภูเรือ จ.เลย อยู่บนที่สูง อากาศหนาวเย็น จึงเป็นอีกแหล่งเพาะปลูกเมล็ดกาแฟชั้นเยี่ยมของเมืองไทย เมื่อรวมเข้ากับสมุนไพร “กระชายดำ” อีกหนึ่งของดีประจำท้องถิ่น เกิดเป็นไอเดียผสานความต่างที่ลงตัวของผลิตภัณฑ์ “กาแฟสดกระชายดำ” ภายใต้ชื่อ ‘คอฟฟี่ บัน’ (Coffee Bun) ช่วยสร้างรายได้แก่ทั้งเกษตรกรในพื้นที่ และสร้างโอกาสแก่ผู้อยากมีอาชีพในรูปแบบแฟรนไชส์
ธัญญ์นิธิ ศรีบุรินธนาภรณ์ ประธานวิสาหกิจชุมชน รักษ์สมุนไพรไทยท่าศาลา ต.ท่าศาลา อ.ภูเรือ จ.เลย บอกเล่าที่มาที่ไปว่า ชาวชุมชนแห่งนี้ ส่วนใหญ่จะยึดอาชีพเกษตรกรรมทำไร่กาแฟ ในอดีตมักเกิดปัญหาถูกนายทุนกดราคาซื้อวัตถุดิบเมล็ดกาแฟสด ดังนั้น เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ได้รวมกลุ่มสมาชิกในบ้านเกิด เบื้องต้นประมาณ 10 คน เพื่อจะนำเมล็ดกาแฟมาแปรรูปคั่วบดเสียเอง เพื่อเพิ่มมูลค่า แล้วขายในนามของชุมชนเอง
“พวกเราเริ่มจากศึกษาวิธีคั่วกาแฟ แล้วลองผิดลองถูกทำกันเอง โดยจุดเด่นของกาแฟภูเรือ จะมีความเข้มข้น หอมเป็นพิเศษ ดื่มแล้วไม่เฝื่อย และนอกจากเรื่องคุณภาพกาแฟแล้ว เราก็พยายามหาความแปลกใหม่อื่นๆ เพื่อสร้างเอกลักษณ์ ซึ่งในท้องถิ่นเรา มีการทำสมุนไพรกระชายดำแปรรูปอยู่จำนวนมาก ถือเป็นอีกสินค้าดังของจังหวัดเลย ทำให้เกิดความคิดนำกระชายดำมาใส่ในกาแฟสด สร้างจุดเด่นเรื่องสรรพคุณสมุนไพร และยังมีเอกลักษณ์เป็นของดีประจำท้องถิ่นด้วย”
ทั้งนี้ วิธีการแปรรูปกระชายดำมาใส่กาแฟสดนั้น ธัญญ์นิธิ เผยว่า จะนำไปผสมกับน้ำผึ้งผ่านกรรมวิธีแปรรูปจนกลายเป็นเกล็ดผงสามารถใช้ทดแทนน้ำตาลทราย คุณสมบัติที่ได้จะให้ความหวานนวลกว่าน้ำตาลทราย เมื่อดื่มจะสัมผัสได้ถึงรสกระชายดำที่ปลายลิ้ม ที่สำคัญ มีสรรพคุณสมุนไพรช่วยลดอาการปวดเมื่อย และช่วยระบบการหมุนเวียนของเลือด
“หลังจากลองเติมผงกระชายดำในกาแฟสดให้ลูกค้าชิม ปรากฏว่า ได้ผลตอบรับที่ดีมาก ลูกค้าชอบรสชาติเฉพาะตัว รวมถึง ยังได้ประโยชน์จากสรรพคุณสมุนไพรกระชายดำด้วย ทำให้เกิดการบอกต่อมากขึ้น จนได้รับความนิยม มีออเดอร์จากทั่วประเทศ อีกทั้ง ทางจังหวัดยังให้เครื่องหมาย “The BEST สุดยอดเมืองเลย” ในฐานะผลิตภัณฑ์เด่นประจำจังหวัดอีกด้วย”
@@@ขายแฟรนไชส์สร้างอาชีพ@@@@
ช่องทางตลาดในยุคเริ่มแรก จะเน้นออกร้านขายตามงานผลิตภัณฑ์ชุมชนต่างๆ แทบทุกครั้งจะมีผู้สนใจ ติดต่อขอซื้อวัตถุดิบกาแฟคั่วบดกับผงกระชายดำผสมน้ำผึ้ง เพื่อไปเปิดร้านกาแฟสดของตัวเอง ประกอบกับทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม แนะนำและชักชวนให้ขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ จึงเป็นที่มาของการขายธุรกิจอาชีพให้แก่ผู้สนใจ ในชื่อแบรนด์ ‘คอฟฟี่ บัน’ ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา
ธัญญ์นิธิ เผยว่า ระบบของ ‘คอฟฟี่ บัน’ เป็นลักษณะกึ่งแฟรนไชส์ ดูแลกันเหมือนพี่น้องมากกว่าคู่ค้าทางธุรกิจ โดยเงื่อนไขลงทุนเบื้องต้นจ่ายครั้งเดียว 75,000 บาท ได้รับอุปกรณ์ครบชุด เช่น คีออส เครื่องชง เครื่องบดกาแฟ และอุปกรณ์อื่นๆ ครบถ้วนพร้อมเปิดร้าน มีเงื่อนไขสำคัญ ต้องรักษาคุณภาพตามข้อตกลง และรับวัตถุดิบหลักจากส่วนกลาง ได้แก่ กาแฟคั่วบด ในราคา กิโลกรัมละ 500 บาท และผงกระชายดำผสมน้ำผึ้ง ในราคา 50 บาทต่อน้ำหนัก 100 กรัม
นับถึงปัจจุบัน ‘คอฟฟี่ บัน’ มีสาขาคีออสกว่า 120 จุด กระจายอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวในต่างจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งสถิติที่ผ่านมา อัตราอยู่รอดของผู้ซื้อแฟรนไชส์สูงถึง 95% ปัจจัยสำคัญมาจากคัดเลือกผู้ร่วมธุรกิจที่มีความตั้งใจจริง รวมถึง ปล่อยแฟรนไชส์ให้เฉพาะทำเลที่มีความเหมาะสมจริงๆ
สำหรับเมนูเครื่องดื่ม นอกจากกาแฟสดกระชายดำที่เป็นตัวเอกแล้ว ยังมีเมนูพื้นฐานทั่วไปให้เลือกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเอสเพรสโซ่ คาปูชิโน ลาตเต้ ชาเขียว ชาเย็น โกโก้ เป็นต้น สนนราคาขาย อยู่ที่แก้วละ 30-65 บาท แล้วแต่ทำเลและสถานที่ตั้งของร้าน โดยเฉลี่ยแล้วผู้ขายจะมีกำไรสุทธิต่อแก้วกว่า 100% จากราคาปลีก หากขายได้วันละ 40-50 แก้วต่อวัน จะมีอัตราคืนทุนภายใน 1-3 เดือน
ประธานกลุ่มเผยด้วยว่า ปัจจุบัน ทางกลุ่มมีการผลิตครบวงจร ตั้งแต่การปลูกเมล็ดกาแฟ จากสมาชิกกลุ่มมีพื้นที่เพาะปลูกรวมกันกว่า 70 ไร่ มีโรงคั่วกาแฟของตัวเอง และทำผงกระชายดำผสมน้ำผึ้งในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน ส่วนเป้าหมายต่อไป พยายามจะยกระดับแฟรนไชส์ให้มีความสมบูรณ์แบบ ทั้งด้านระบบบริหาร การตลาด และเพิ่มเติมแฟรนไชส์รูปแบบร้านคอนเนอร์ และร้านกาแฟเต็มรูปแบบ ซึ่งขณะนี้ได้ทดลองทำร้านต้นแบบอยู่ที่ทางขึ้นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จ.เลย
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
@@@ ตารางลงทุนแฟรนไชส์ “คอฟฟี่ บัน” โดยสังเขป @@@ |
-ได้รับอุปกรณ์ครบถ้วนพร้อมเริ่มอาชีพ -ต้องรับวัตถุดิบกาแฟคั่วบด และผงกระชายดำผสมน้ำผึ้ง -กำไรสุทธิต่อแก้วกว่า 100% จากราคาปลีก -ควรขายได้วันละ 40-50 แก้วต่อวัน -คาดการณ์คืนทุนภายใน 1-3 เดือน |
โทร.08-9574-7184 , 08-4404-8018