“อย่าลืมพกบัตรประชาชนไปด้วยนะ” จะไม่ใช่แค่ถ้อยคำที่ใช้เตือนบรรดานักเที่ยวกลางคืนอีกต่อไป เพราะทุกวันนี้จะเข้าโรงภาพยนตร์ทั้งทีก็ต้องมีตรวจบัตรกันแล้ว!! ล่าสุดกระทรวงวัฒนธรรมลุกขึ้นมาออกคำสั่งให้โรงฉายทุกแห่งตรวจอายุผู้เข้าชมเรื่อง “จันดารา” กันอย่างเข้มงวด ระบุชัดเจนว่า “ต่ำกว่า 18 ปีห้ามเข้า!!”
เหตุการณ์นี้นอกจากจะสร้างความเสียหายทางรายได้แก่เจ้าของผลงานจนประกาศกร้าวว่าอาจถึงขั้นฟ้องร้องกระทรวงคืน ยังสร้างความงุนงงแก่สังคมอีกว่า ถ้าจะใช้อำนาจรัฐกีดกันเสรีภาพในการบริโภคสื่อกันขนาดนี้ แล้วจะมีระบบเรตติ้งออกมาประดับเล่นๆ ไปทำไม!?!
เสียหายหลายแสน ต้องฟ้อง!!
เรื่องวุ่นวายทั้งหมดมีเหตุมาจากฉากวับแวมหวือหวา อัดแน่นไปด้วยประเด็นทางเพศในภาพยนตร์เรื่อง “จันดารา” จนถูกจัดให้อยู่ในเรต “น 18+” ถ้าเรื่องมันจบเพียงแค่ระบบเรตติ้งอย่างที่กล่าวมาก็คงไม่เป็นปัญหา แต่ “สมชาย เสียงหลาย” ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กลับลุกขึ้นมาออกคำสั่งให้แหล่งฉายทุกโรงทั่วประเทศตรวจบัตรประชาชนผู้เข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างเข้มงวด ด้วยเหตุผลที่ว่า “มีหน่วยงานต่างๆ ร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาเรื่องเพศรุนแรง จึงเห็นสมควรให้ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าชม” โรงภาพยนตร์ไหนฝ่าฝืนต้องเจอโทษปรับวันละ 20,000 บาททันที
จุดชนวนให้สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยเดือดปุดๆ ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว จนต้องรวมตัวกันครั้งใหญ่แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เพื่อชี้แจงให้สังคมได้รับรู้ว่า สิ่งที่กระทรวงวัฒนธรรมทำ นอกจากจะ “ผิดที่ผิดทาง” แล้ว ยัง “ผิดกฎหมาย” อีกด้วย เพราะเรตติ้ง “น 18+” ที่ได้รับ ไม่ได้หมายความว่า “ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปีห้ามดู” อย่างที่ทางกระทรวงตีความ แต่แท้จริงแล้วหมายถึง “ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป” ต่างหาก
งานนี้คนที่เดือดจนออกนอกหน้าเห็นจะเป็น “เสี่ยเจียง-สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ” เจ้าของค่ายสหมงคลฟิล์ม ผู้อำนวยการสร้างเรื่องจันดารา ที่ออกมาตำหนิปลัดกระทรวงอย่างไม่ไว้หน้า แถมยังขู่อีกว่า เดี๋ยวจะฟ้องให้ดู!!
“กฎหมายเรตติ้งเนี่ย มันเกิดมา 4 ปีแล้ว แล้วนี่คุณออกมาพูดอะไรตอนนี้ คุณเป็นปลัดกระทรวง คุณไม่รู้เรื่องเหรอ มาห้าม มาพูดออกมาแบบนี้ได้ยังไง อย่างนี้ผู้ประกอบการอย่างเราก็เสียหายตายห่า ความจริงเรื่องนี้ทางกระทรวงต้องคุยกับผม คุยกับโรงหนังทำไม โรงหนังไม่เกี่ยว (เน้นเสียง) ผมโทร.ไปคุยกับทางโรงหนังแล้ว บอกว่าถ้าโรงไหนตรวจบัตร ผมจะถอดโปรแกรมฉายออกเลย นี่เขาทำให้เราเสียหายมากเลยนะ เดี๋ยวจะฟ้องกระทรวงด้วยคอยดู”
ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 26 ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า มีภาพยนตร์ประเภทเดียวเท่านั้นที่สามารถนำมาตรการตรวจบัตรประชาชนผู้เข้าชมมาใช้ได้ นั่นก็คือประเภท “ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดู” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าเรต “ฉ 20-” นั่นเอง นอกเหนือจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นประเภทภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป (น 13+), 15 ปีขึ้นไป (น 15+) หรือแม้แต่ 18 ปีขึ้นไป (น 18+) ทางคณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ไม่มีสิทธิยื่นเรื่องขอตรวจบัตรประชาชนของผู้เข้าชม ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งนั้น
“เรตติ้ง น.นำทั้งหมด ตามกฎหมายแล้ว ทางกระทรวงไม่มีสิทธิมาตรวจบัตรนะคะ แต่ที่เขาออกมาพูดแบบนี้ แสดงว่าไม่ได้ศึกษากฎหมายกันก่อนนำมาใช้ เลยทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เข้าใจผิดกันไป และหันมาโทษผู้ผลิตอย่างเราแทน ซึ่งจุดนี้ต้องให้สังคมทำความเข้าใจเสียใหม่ ทางสมาคมผู้กำกับฯ เองก็อยากจะชำระเรื่องระบบเรตติ้งเหมือนกัน เนื่องจากเรามองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับกฎหมายใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้แบบนี้ว่ายังมีช่องโหว่อยู่เยอะ ก็น่าจะดีถ้าร่วมมือกันแก้ไข เพราะเรายังต้องใช้กฎหมายเหล่านี้ร่วมกันในสังคมไปอีกนาน” กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ย้ำให้เห็นถึงความผิดพลาดของระบบการจัดเรตติ้งภาพยนตร์ไทยให้เห็นกันชัดๆ อีกครั้ง
คนไทยจัดเรต ห้ามเซ็กส์ แต่เซ็กส์จัด!!
พูดกันตรงๆ ระบบเรตติ้งในบ้านเราช่างดูขัดหูขัดตา เป็นปัญหาค้างคามาเนิ่นนานแล้ว ตั้งแต่การเซ็นเซอร์ขั้นอนุบาลอย่างในรายการทีวี ที่เซ็นเซอร์กันตั้งแต่ฉากสูบบุหรี่ เครื่องดื่มของมึนเมา ส่วนเว้าส่วนโค้งของผู้หญิง หรือแม้แต่นมของชิสุกะ ลามมาจนถึงการระบุตัวเลขกำหนดช่วงอายุที่สมควรดูทั้งในโทรทัศน์และภาพยนตร์ โดยเฉพาะเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องเพศที่ช่างละเอียดอ่อนนักในสังคมไทย จนบางครั้งอาจละเอียดอ่อนเกินไป
อย่างที่ “โขม- ก้องเกียรติ โขมศิริ” ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังจากเรื่อง “ลองของ” “เฉือน” และ “อันธพาล” ขอเปิดใจลอกเปลือกจอมปลอมของระบบเรตติ้งออกมา ให้คนไทยลองหันมายอมรับความจริงกันเสียที
“ระบบเรตติ้งมันดีนะ ไม่ใช่ไม่ดี แต่เราต้องรู้จักมัน เพราะถ้าเราไม่รู้จักมัน มันก็จะเป็นแค่ตัวเลข ที่เห็นตัว ฉ.ฉิ่ง ช.ช้าง ซ.โซ่ หรืออะไรก็ตามหน้าทีวีเนี่ย ถ้าคนไม่เข้าใจ มันก็เป็นแค่ตัวเลข ตัวอักษรแค่นั้นแหละ คนเข้าใจแค่พื้นๆ ว่า 13+ คืออายุ 13 ขึ้นไปดูได้ หรือมองว่าหนัง 20- ต้องเป็นหนังเลวร้ายแน่นอน ซึ่งมันไม่ใช่ คนไทยยังมีอคติอยู่ในใจเรื่องแบบนี้ เหมือนนิสัยที่ชอบบอกว่าตัวเองเป็นคนดีแต่ไม่เคยเข้าวัดนั่นแหละ
ถ้ามองในกรอบของเรื่องศีลธรรมจริงๆ การหันมองโลกียะมันคือสัจธรรมนะ เพราะฉะนั้น ต่อให้หนังมันจะโป๊ มันจะเปลือยแค่ไหน แต่ถ้าอยู่ภายใต้การพูดคุยที่ถูกต้อง มันก็ไม่มีปัญหาหรอก แต่ตอนนี้ปัญหามันคือความไม่เข้าใจไง แล้วไอ้การไปห้ามไม่ให้อายุ 18 เข้าไปดู คำถามคือคุณคิดว่าคุณปิดบังอะไรเขาได้เหรอ ปิดไม่ได้หรอก เด็กวัยนี้คือวัยที่ต้องพูดความจริงกับเขา ต้องให้เขาใช้ความคิด ใช้วิจารณญาณ
แต่เราดันใช้วิธีปิดหูปิดตาแล้วหลอกตัวเองว่าปิดเขาได้ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเราก็รู้กันว่า ถึงเด็กไม่ได้ดูหนัง กลับบ้านหรือเข้าร้านเน็ต เขาก็รับรู้โลกได้มากมายแล้ว ผมว่าไปห้ามเขาดูแบบนี้ เขาก็คงขำเหมือนกัน ส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่ายังมีวัยรุ่นอีกมากมายที่ไม่ไร้สาระ ไม่ได้โง่ แต่ผู้ใหญ่ในบ้านเราชอบไปทำให้วัยรุ่นเป็นเด็กอยู่ได้ คนมันจะอายุ 18 อยู่แล้ว ปล่อยให้เขาใช้วิจารณญาณของตัวเองเถอะ”
แล้วความล้มเหลวในระบบเรตติ้งมันผิดที่ใคร? ผู้กำกับฝีปากจัดรายเดิมยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีใครผิด แต่ผิดที่คุยกันไม่เคลียร์ ถ้าลองหันมาคุยกันด้วยเหตุและผลตั้งแต่วันนี้ อาจช่วยให้สังคมไทยงุนงงกับระบบกันน้อยลงและรู้จักบริโภคกันอย่างชาญฉลาดมากขึ้น
“ถ้าคุณมองหนังเป็นแค่ปาหี่ เป็นธุรกิจของบางบริษัทก็ไม่ต้องแก้ระบบหรอก แต่ถ้ามองว่าเป็นช่องทางของวัฒนธรรม ก็ต้องมานั่งมองประโยชน์ของคนดูเป็นที่ตั้ง ถ้ากระทรวงวัฒนธรรมรักประเทศไทยด้วยการปิดหูปิดตา สุดท้ายเราก็จะสูญเสียวัฒนธรรมไทย ถ้าคนทำไม่มีวิจารณญาณ ใช้ช่องทางของเรตติ้งเป็นตัวโกยเงิน สุดท้ายคนดูก็จะรู้ว่าคุณไม่จริงใจ และถ้าคนดูไม่มีวิจารณญาณในการเสพ แบมือรับหนังเรียกเรตติ้งอย่างเดียว สุดท้ายก็จะไม่มีหนังดีๆ ให้เสพกัน ทุกอย่างจะเกิดประโยชน์ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน ต้องพูดคุยกันครับ”
---ล้อมกรอบ---
การจัดเรตติ้งภาพยนตร์ไทย ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 26 แบ่งออกได้เป็น 7 ประเภท ดังนี้
1.ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้มีการดู
2.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป
3.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบสามปีขึ้นไป
4.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป
5.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไป
6.ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู
7.ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE